EPR กับการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม
ปัจจุบัน ปริมาณขยะในประเทศเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์เป็นส่วนหนึ่งที่เป็นสาเหตุของปัญหาดังกล่าว โดยเฉพาะบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ส่วนใหญ่ผลิตขึ้นเพื่อใช้งานในระยะสั้น จากนั้นถูกทิ้งให้กลายเป็นขยะ ประกอบกับขาดการจัดการที่เหมาะสม การคัดแยกขยะยังไม่มีประสิทธิภาพที่ดีพอ ทำให้ไม่สามารถนำไปรีไซเคิลหรือนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้ และขยะหลายประเภทไม่มีปลายทางที่รองรับ ปัญหาขยะจึงเป็นปัญหาที่สำคัญ ที่หลายฝ่ายควรร่วมกันแก้ปัญหา โดยเฉพาะบริษัทผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ควรมีส่วนร่วมในการรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยคำนึงถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากผลิตภัณฑ์ของตัวเอง ตั้งแต่การผลิตจนถึงสิ้นอายุการใช้ ภายใต้หลักการ “EPR”
Extended Producer Responsibility หรือ EPR เป็นเครื่องมือสำหรับผู้ผลิตที่จะต้องมีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม โดยควบคุมวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์ อย่างครบวงจร ตั้งแต่การเริ่มต้นคิดการออกแบบผลิตภัณฑ์ การจัดส่งกระจายสินค้า การรับคืน การเก็บรวบรวม การใช้ซ้ำ การนำกลับมาใช้ใหม่ และการบำบัด เพื่อให้เกิดเป็นกระบวนการที่ยั่งยืนของผลิตภัณฑ์ ใช้งานได้อย่างคุ้มค่า และไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมหรือเกิดน้อยที่สุด
หลักการ EPR มีพื้นฐานคล้ายกับ “หลักการผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย (Polluter Pays Principle: PPP)” โดยทั้ง 2 หลักการ เป็นแนวทางสำหรับผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในการจัดการสิ่งแวดล้อม ขยะและของเสียที่เกิดขึ้น จากการผลิตสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ โดยไม่มุ่งเน้นการลงโทษผู้ที่เป็นต้นเหตุที่ก่อให้เกิดขยะหรือของเสีย แต่จะสนับสนุนผู้ที่มีศักยภาพการจัดการขยะและของเสียได้อย่างเหมาะสม ไม่สร้างภาระให้กับหน่วยงานภาครัฐและประชาชนมากเกินไป ซึ่งหลักการ EPR มี 2 ลักษณะ คือ Voluntary คือการที่ผู้ผลิตแสดงความรับผิดชอบต่อผลิตภัณฑ์จากปัญหาขยะโดยสมัครใจ และ Mandatory คือ การที่ผู้ผลิตต้องรับผิดชอบต่อผลิตภัณฑ์จากปัญหาขยะเพราะมีกฎหมายกำหนดไว้
หลัก EPR ถูกนำมาใช้ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1991 ในประเทศเยอรมัน โดยกฎหมายกำหนดไว้ว่าผู้ผลิตจะต้องใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สะดวกต่อการรีไซเคิล และจะต้องลดปริมาณวัสดุที่ใช้ในการผลิตบรรจุภัณฑ์ให้น้อยที่สุด หรือผลิตบรรจุภัณฑ์ที่สามารถนำมาใช้ซ้ำใหม่ได้ เพื่อลดปริมาณการเกิดขยะหรือให้เกิดน้อยที่สุด และผู้ผลิตจะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมในการเข้าร่วมกับองค์กร Duales System Deutschland (DSD) เพื่อให้ได้รับเครื่องหมาย Green Dot ที่แสดงว่าผลิตภัณฑ์ที่ผลิตได้เข้าร่วมนโยบาย EPR ของรัฐบาล จากการสนับสนุนอย่างจริงจังของรัฐบาลเยอรมัน ทำให้มีการนำบรรจุภัณฑ์ต่างๆ ไปรีไซเคิล มากกว่า 65% และยังมีระบบมัดจำคืนเงินสำหรับผู้ที่นำบรรจุภัณฑ์เครื่องดื่มมาส่งคืนที่จุดรีไซเคิล ทำให้มีอัตราการรีไซเคิลบรรจุภัณฑ์เครื่องดื่มมากกว่า 95%
ประเทศไทยให้ความสำคัญและพยายามผลักดันหลักการ EPR ให้เกิดเป็นรูปธรรมอยู่หลายครั้ง โดยนำหลักการ EPR ระบุไว้ในแผนการจัดการขยะพลาสติก พ.ศ. 2562-2573 แผนปฏิบัติการด้านการจัดการขยะพลาสติก ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2563-2565) ยุทธศาสตร์การจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เชิงบูรณาการ พ.ศ. 2557-2564 เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติแก่ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง แต่การดำเนินงานในระยะที่ผ่านยังไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากยังไม่มีกฎหมายว่าด้วย EPR เป็นการเฉพาะ ในขณะที่หลายๆ ประเทศ อาทิ สวีเดน แอฟริกาใต้ ชิลี ญี่ปุ่น ไต้หวัน จีน อินเดีย และเวียดนาม มีการบังคับใช้กฎหมาย EPR ออกไปแล้วหลายฉบับ
สำหรับประเทศไทยหลัก EPR ยังคงเป็นหลักการที่ผู้ผลิตดำเนินการตามความสมัครใจ และยังคงเป็นการดำเนินการขยะประเภทผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและพลาสติกเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งหลายๆ บริษัทมีการใช้บรรจุภัณฑ์ที่นำกลับมาใช้ซ้ำมากขึ้น โดยการเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์จากพลาสติกเป็นกระป๋องอะลูมิเนียมหรือโลหะต่างๆ เพื่อให้ง่ายต่อการนำไปรีไซเคิล หรือการเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์เป็นขวดแก้ว เพื่อง่ายต่อการนำไปใช้ซ้ำ การลดบรรจุภัณฑ์ที่ไม่จำเป็น การทำกิจกรรมที่รับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม (corporate social responsibility : CSR) เพื่อสร้างการรับรู้แก่ผู้บริโภค การตั้งจุด Drop-off เก็บบรรจุภัณฑ์ที่ใช้แล้วจากผู้บริโภค และการรับสินค้าอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เก่าบางยี่ห้อและนำไปจัดการ โดยให้ส่วนลดกับผู้บริโภคในการซื้อสินค้าใหม่
ถึงแม้ว่า EPR จะเป็นเครื่องมือและตัวช่วยสำคัญในการจัดการสิ่งแวดล้อมเพื่อแก้ไขปัญหาขยะ แต่การดำเนินงานตามหลักการดังกล่าวยังคงต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ระบบการจัดการขยะของประเทศเกิดขึ้นได้อย่างครบวงจรและมีประสิทธิภาพ
บทความโดย นางสาวพรพรรณ ปัญญายงค์ เจ้าหน้าที่วิเคราะห์นโยบายและแผน กองติดตามประเมินผลสิ่งแวดล้อม
เอกสารอ้างอิง
ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยี ปิโตรเคมีและวัสดุ. (2565). EPR ขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต สู่การสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียน สืบค้นเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2567. จากเว็บไซต์: https://petromat.org/home/extended-producer-responsibility/.
สถาบันพลาสติก. (2564). รู้จักกับ EPR กับการสร้างประโยชน์อะไรให้กับภาคอุตสาหกรรมและสิ่งแวดล้อม. สืบค้นเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2567. จากเว็บไซต์: https://www.thaiplastics.org/img/content_attachment/attach/efde667dcd4e2d929d04271cf5482705.pdf.
สถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. (2566). หลักการความรับผิดชอบที่เพิ่มขึ้นของผู้ผลิต (EPR) ในการจัดการของเสียเพื่อมุ่งสู่เศรษฐกิจหมุนเวียนของสหภาพยุโรป – บริบททางกฎหมาย. วารสารสิ่งแวดล้อมไทย. สืบค้นเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2567. จากเว็บไซต์: https://ej.eric.chula.ac.th/article/view/318.attachment/attach/efde667dcd4e2d929d04271cf5482705.pdf.
SDG MOVE. (2564). SDG Insights หลักการ EPR “ปิดลูปการจัดการซากผลิตภัณฑ์ด้วยการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต”. สืบค้นเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2567. จากเว็บไซต์: https://www.sdgmove.com/2021/12/29/sdg-insights-extended-producer-responsibility-epr/.
Trash Lucky. (2565). หลักการ “EPR” ช่วยแก้ปัญหาขยะไทยได้ไหม?. สืบค้นเมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2567. จากเว็บไซต์: https://trashlucky.com/epr-thailand/.