FAQ
สิ่งแวดล้อมชุมชนและพื้นที่เฉพาะ
ภูมินิเวศ หมายถึงอะไร
ภูมินิเวศ หมายถึง ขอบเขตของภูมิประเทศที่แสดงถึงความสัมพันธ์ของทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม การเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดิน ภูมิสังคมและระบบเศรษฐกิจ วัฒนธรรมและกิจกรรมของมนุษย์
แผนผังภูมินิเวศ คืออะไร
แผนผังภูมินิเวศ คือ แผนผังยุทธศาสตร์และกระบวนการการสร้างความสมดุลและการบูรณาการระหว่างการอนุรักษ์และการพัฒนาที่สอดคล้องกับภูมินิเวศของพื้นที่ โดยจะศึกษาความเหมาะสมของการใช้พื้นที่ทางภูมินิเวศแต่ละประเภท และกำหนดเกณฑ์และมาตรฐานการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาที่เหมาะสมบนพื้นฐานการจัดการสิ่งแวดล้อมภูมินิเวศแต่ละประเภท เพื่อนำมาจัดทำแผนผังภูมินิเวศ ที่มีมาตรการการใช้พื้นที่ทางภูมินิเวศในแต่ละประเภท รวมทั้ง จัดทำแผนและผังความเหมาะสมในการใช้พื้นที่ทางภูมินิเวศอย่างยั่งยืนรายจังหวัด เพื่อให้ทุกจังหวัดสามารถนำแผนผังภูมินิเวศไปกำหนดการพัฒนาและใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ได้อย่างเหมาะสมกับลักษณะทางภูมินิเวศ
การจัดทำแผนผังภูมินิเวศ
ยุทธศาสตร์ชาติและแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ประเด็นที่ 6 พื้นที่และเมืองน่าอยู่อัจฉริยะ กำหนดเป้าหมายให้จัดทำแผนผังภูมินิเวศระดับภาค จำนวน 6 ภาค ได้แก่ ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคใต้
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคตะวันตก ภายในปี พ.ศ. 2580 โดยใช้การแบ่งภูมิภาคทางภูมิศาสตร์ของคณะกรรมการภูมิศาสตร์แห่งชาติภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ โดย สผ. อยู่ระหว่างดำเนินการจัดทำแผนผังภูมินิเวศภาคเหนือ ได้แก่ จังหวัดเชียงราย จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดน่าน จังหวัดพะเยา จังหวัดแพร่ จังหวัดแม่ฮ่องสอน จังหวัดลําปาง จังหวัดลำพูน และจังหวัดอุตรดิตถ์
การจัดระบบศูนย์ราชการในปัจจุบันมีการดำเนินการอย่างไร
ที่ผ่านมา การจัดระบบศูนย์ราชการ ดำเนินการภายใต้ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการอำนวยการจัดระบบศูนย์ราชการ พ.ศ. 2539 และที่แก้ไขเพิ่มเติม อย่างไรก็ตาม ในการประชุมคณะกรรมการอำนวยการจัดระบบศูนย์ราชการ (กศร.) ครั้งที่ 1/2564 เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2564 คณะกรรมการมีมติให้เสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อยกเลิกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีฯ แล้วปรับปรุงเป็นคำสั่งหรือประกาศในระดับกระทรวงแทน และมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย ดำเนินการปรับปรุงเป็นคำสั่งหรือประกาศในระดับกรระทรวงที่มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นองค์ประกอบ โดยคณะรัฐมนตรีมีมติ เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2564 รับทราบ เห็นชอบและอนุมัติ ตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เสนอผลการประชุมคณะกรรมการอำนวยการจัดระบบศูนย์ราชการ (กศร.) ครั้งที่ 1/2564 ขณะนี้อยู่ระหว่าง กระทรวงมหาดไทยยกร่างคำสั่งหรือประกาศในระดับกระทรวงที่มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นองค์ประกอบ ต่อไป
การจัดการสิ่งแวดล้อมชุมชนในปัจจุบัน มีการดำเนินการอย่างไร
ปัจจุบัน สผ. ได้จัดทำแนวทางการจัดการสิ่งแวดล้อมชุมชน เพื่อส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2563 – 2580 ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ในการประชุมครั้งที่ 4/2563 เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2563 และคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 12 มกราคม 2564 รับทราบแนวทางการจัดการสิ่งแวดล้อมชุมชน เพื่อส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2563 – 2580 เพื่อหน่วยงานและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ใช้เป็นกรอบแนวทางในการปฏิบัติด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมชุมชนต่อไป ซึ่งขณะนี้ อยู่ระหว่างการจัดทำแผนปฏิบัติการ เพื่อขับเคลื่อนแนวทางการจัดการสิ่งแวดล้อมฯ ไปสู่การปฏิบัติเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม ต่อไป
นโยบายและแผนที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่สีเขียว
- แนวทางการขับเคลื่อนการจัดการพื้นที่สีเขียวอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นกรอบการปฏิบัติสำหรับทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน ชุมชน และประชาชน ดำเนินการตามบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบและบูรณาการความร่วมมือโดยได้นำเสนอต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ในคราวการประชุม ครั้งที่ 4/2561 เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2561 และที่ประชุมมีมติเห็นชอบ ต่อมาเมื่อวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๖๑ คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบมติการประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ครั้งที่ 4/2561 โดยแนวทางการขับเคลื่อนฯ เป็นแนวทางที่มีกรอบระยะเวลาดำเนินงาน 20 ปี (พ.ศ. 2561 – 2580) ประกอบด้วย เป้าหมาย ตัวชี้วัด มาตรการ และหน่วยงานรับผิดชอบ
- แนวทางปฏิบัติงานเพื่อขับเคลื่อนการจัดการพื้นที่สีเขียวอย่างยั่งยืน (พ.ศ. 2561 – 2565 จัดทำขึ้นเพื่อรองรับและเป็นกรอบในการผลักดันแนวทางการขับเคลื่อนการจัดการพื้นที่สีเขียวอย่างยั่งยืน โดยถ่ายทอดแนวทางและมาตรการตามแนวทางการขับเคลื่อนฯ ไปสู่การปฏิบัติ ทั้งเป้าหมายและตัวชี้วัดการดำเนินงานในระยะสั้น (1 – 5 ปี) โดยได้นำเสนอต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ครั้งที่ 5/2563 เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2563 และที่ประชุมมีมติเห็นชอบแนวทางปฏิบัติงานฯ ต่อมาเมื่อวันที่ 26 มกราคม 2564 คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบมติคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ครั้งที่ 5/2563
พื้นที่สีเขียวมีกี่ประเภท
พื้นที่สีเขียว แบ่งออกเป็น 6 ประเภท ตามคุณลักษณะและการใช้ประโยชน์ ได้แก่
1) พื้นที่สีเขียวสาธารณะ เช่น สวนสาธารณะ สวนพฤกษศาสตร์ สนามเด็กเล่น
2) พื้นที่สีเขียวอรรถประโยชน์ ประกอบด้วย
2.1) พื้นที่สีเขียวส่วนบุคคล เช่น สวนในโครงการพัฒนาของเอกชน สวนในบ้านและอาคารพักอาศัย
2.2) พื้นที่สีเขียวในสถาบัน เช่น แหล่งประวัติศาสตร์ สถาบันการศึกษา สถาบันราชการ
2.3) พื้นที่สีเขียวในพื้นที่สาธารณูปการ เช่น พื้นที่ฝังกลบขยะ พื้นที่รอบบ่อบำบัดน้ำเสีย
3) พื้นที่สีเขียวที่เป็นริ้วยาวตามแนวสาธารณูปการ เช่น พื้นที่ริมทางสัญจรทางบก บริเวณริมทาง
เกาะกลางถนน เขตทางรถไฟ และพื้นที่ริมทางสัญจรทางน้ำ บริเวณริมแม่น้ำ คลองชลประทาน
4) พื้นที่สีเขียวเพื่อเศรษฐกิจของชุมชน เช่น พื้นที่สีเขียวที่เป็นแหล่งผลิตอาหารแก่ชุมชน ประเภท
ไร่นา สวนผลไม้ พื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ
5) พื้นที่สีเขียวธรรมชาติ เช่น พื้นที่สีเขียวบนเนินเขา พรุ แหล่งน้ำ พื้นที่ชุ่มน้ำ
6) พื้นที่สีเขียวที่ยังไม่มีการใช้ประโยชน์ หรือรอการพัฒนา เช่น พื้นที่สีเขียว
นิยามหรือความหมายของพื้นที่สีเขียว
พื้นที่สีเขียว หมายถึง พื้นที่ธรรมชาติ หรือพื้นที่ที่มนุษย์สร้างขึ้นหรือกำหนดขึ้นในเมืองหรือชุมชน
ปกคลุมด้วยพืชพรรณเป็นองค์ประกอบหลัก มีประโยชน์เพื่อสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศการดำรงชีวิต และคุณภาพชีวิตของประชาชน
พื้นที่สีเขียวยั่งยืน หมายถึง พื้นที่สีเขียวที่มีพืชพรรณที่มีความหลากหลายทั้งชนิดและปริมาณ โดยมี
ไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ เป็นองค์ประกอบหลักและได้รับการดูแลบำรุงรักษาให้คงอยู่ อย่างยั่งยืน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสมดุลทางระบบนิเวศ เกิดสภาพแวดล้อมที่ดี สวยงาม ร่มเย็น น่าอยู่ และเพิ่มองค์ประกอบของการใช้ประโยชน์ที่ดินทั้งทางตรงและทางอ้อม แก่การยกระดับคุณภาพชีวิตของประชากร ในเมืองและชุมชน ผู้มาเยือน ตลอดจนเสริมสร้างเศรษฐกิจของชุมชน
ความหลากหลายทางชีวภาพ
อนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพคืออะไร
อนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ (Convention on Biological Diversity: CBD)
เป็นข้อตกลงระหว่างประเทศด้านสิ่งแวดล้อมกำหนดแนวทางและหลักกฎหมายทั่วไป สำหรับการบริหารจัดการประเด็นด้านความหลากหลายทางชีวภาพในระดับนานาชาติ เพื่อเป็นพื้นฐานในการจัดทำเป้าหมาย กรอบเวลา กลไกการดำเนินงานในเรื่องต่าง ๆ และ/หรือพิธีสารในประเด็นเฉพาะต่อไป อนุสัญญามีวัตถุประสงค์ 3 ประการคือ 1) การอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ 2) การใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน และ 3) การแบ่งปันผลประโยชน์จากการใช้ทรัพยากรพันธุกรรมอย่างเท่าเทียมและยุติธรรม โดยประเทศไทยได้เข้าร่วมเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ ลำดับที่ 188 เมื่อวันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2547 และมีสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เป็นหน่วยประสานงานกลางอนุสัญญาฯ ปัจจุบันอนุสัญญาฯ มีภาคีสมาชิกจำนวน 196 ประเทศ
พิธีสารคาร์ตาเฮนาฯ คืออะไร
พิธีสารคาร์ตาเฮนาว่าด้วยความปลอดภัยทางชีวภาพ (Cartagena Protocol on Biosafety) เป็นพิธีสารภายใต้อนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพซึ่งจัดทำขึ้นเพื่อกำหนดระเบียบวิธีการที่เหมาะสมในการขนย้ายการควบคุมดูแล และการใช้ประโยชน์จากสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรม (Living Modified Organisms: LMOs) ที่เป็นผลมาจากเทคโนโลยีชีวภาพสมัยใหม่ พิธีสารคาร์ตาเฮนาฯ ได้รับการรับรอง และมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2546 ประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีพิธีสารฯ เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2548 และมีผลบังคับต่อประเทศไทย เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2549 และมีสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เป็นหน่วยประสานงานกลางพิธีสารฯ
พิธีสารนาโงยาฯ คืออะไร
พิธีสารนาโงยาว่าด้วยการเข้าถึงทรัพยากรพันธุกรรมและการแบ่งปันผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากการใช้ประโยชน์ทรัพยากรพันธุกรรมอย่างเท่าเทียมและยุติธรรม (Nagoya Protocol on Access to Genetic Resources and the Fair and Equitable Sharing of Benefits Arising from their Utilization) เป็นพิธีสารภายใต้อนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ จัดทำขึ้นเป็นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเครื่องมือทางกฎหมายระหว่างประเทศที่สามารถใช้เป็นกรอบแนวทางในการจัดทำกฎหมายภายในประเทศในเรื่องของการเข้าถึง และแบ่งปันผลประโยชน์จากทรัพยากรพันธุกรรมเพื่อให้เกิดการแบ่งปันผลประโยชน์ทั้งรูปแบบที่เป็นตัวเงินและไม่ใช่ตัวเงินกลับคืนสู่ประเทศและชุมชนท้องถิ่นที่เป็นเจ้าของทรัพยากรพันธุกรรม ปัจจุบันประเทศไทยยังไม่ได้เข้าร่วมเป็นภาคีพิธีสารฯ แต่ก็ได้มีการจัดทำระเบียบคณะกรรมการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพแห่งชาติ (กอช.) ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการเข้าถึงและได้รับประโยชน์ตอบแทนจากทรัพยากรชีวภาพ พ.ศ… เพื่อเป็นกรอบการดำเนินงานงานที่เกี่ยวข้องกับเข้าถึงทรัพยากรพันธุกรรมและการแบ่งปันผลประโยชน์และเตรียมตัวสำหรับการเข้าร่วมเป็นภาคีพิธีสารในอนาคต
คณะทำงานอาเซียนด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ หรือ AWGNCB คืออะไร
คณะทำงานอาเซียนด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ (ASEAN Working Group on Nature Conservation and Biodiversity: AWGNCB) เป็นหนึ่งในคณะทำงานอาเซียนที่เกี่ยวข้องด้านสิ่งแวดล้อม โดย AWGNCB เป็นเวทีหารือระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนเพื่อประสานความร่วมมือ
และผลักดันกิจกรรมด้านการคุ้มครอง อนุรักษ์ จัดการ และแก้ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับความหลากหลายทางชีวภาพในภูมิภาคอาเซียน และส่งเสริมบทบาทของภูมิภาคอาเซียนด้านการอนุรักษ์และการจัดการธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพในเวทีความตกลงระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง โดยมีสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เป็นหน่วยประสานงานกลาง
IPBES คืออะไร
IPBES หรือ เวทีระหว่างรัฐบาลว่าด้วยนโยบายวิทยาศาสตร์ด้านความหลากหลายทางชีวภาพและบริการจากระบบนิเวศ (Intergovernmental Science-Policy Platform on Biodiversity and Ecosystem Services) เป็นองค์กรอิสระระหว่างรัฐบาลซึ่งก่อตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อ ค.ศ. 2012 โดยก่อแนวคิดมาจากอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพที่เห็นว่าความรู้ทางวิชาการด้านความหลากหลายทางชีวภาพยังไม่ได้นำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในการกำหนดนโยบายด้านความหลากหลายทางชีวภาพเท่าที่ควรการดำเนินงานของ IPBES มุ่งเน้นการจัดการความรู้ทางวิชาการเพื่อสนับสนุนการตัดสินใจด้านความหลากหลายทางชีวภาพซึ่งไม่ได้มุ่งสนับสนุนการดำเนินงานของอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพเท่านั้นแต่ยังสนับสนุนการดำเนินงานของอนุสัญญาระหว่างประเทศอื่น ๆ ด้วย โดยมีสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เป็นหน่วยประสานงานกลางของ IPBES
กรอบงานความหลากหลายทางชีวภาพของโลกหลังปี ค.ศ. 2020 คืออะไร
กรอบงานความหลากหลายทางชีวภาพของโลกหลังปี ค.ศ. 2020 หรือ Post-2020 Global Biodiversity Framework) คือกรอบในการดำเนินงานด้านความหลากหลายทางชีวภาพระดับโลกที่ต่อเนื่องจากแผนกลยุทธ์ความหลากหลายทางชีวภาพ ค.ศ. 2011-2020 และเป้าหมายไอจิที่สิ้นสุดลง เมื่อปี ค.ศ. 2020 (พ.ศ. 2563) โดยกรอบงานฯ ได้จัดทำขึ้นตามข้อตัดสินใจที่ 14/34 ของการประชุมสมัชชาภาคีอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ สมัยที่ 14 (CBD COP14) เมื่อ ค.ศ. 2018 ซึ่งร่างกรอบงานฯ ได้รับการพัฒนาโดยการมีส่วนร่วมของประชาคมโลกผ่านการประชุมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ เนื่องด้วยการระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้สำนักเลขาธิการอนุสัญญาฯ ต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการประชุมต่าง ๆ เป็นรูปแบบออนไลน์และขยายระยะเวลาจัดทำกรอบงานฯ ออกไปจากเดิมที่กำหนดให้กรอบงานฯ จะมีการรับรองในการประชุม CBD COP15 เมื่อเดือนตุลาคม ค.ศ. 2020 ไปเป็นการรับรองในการประชุม CBD COP15 ช่วงที่ 2 ซึ่งกำหนดจัด ระหว่างวันที่ 25 เมษายน – 8 พฤษภาคม 2022 ณ นครคุนหมิง สาธารณรัฐประชาชนจีน
ปฏิญญาคุนหมิงคืออะไร
ปฏิญญาคุนหมิงหรือ Kunming Declaration เป็นการแสดงเจตนารมณ์และความมุ่งมั่นเชิงนโยบายของผู้นำประเทศต่าง ๆ ในการดำเนินงานเพื่อลดการคุกคามและผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อมุ่งไปสู่การบรรลุวิสัยทัศน์ของอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ ค.ศ. 2050 “Living in Harmony with Nature” และสนับสนุนการจัดทำกรอบงานความหลากหลายทางชีวภาพของโลกหลังปี ค.ศ. 2020 (Post-2020 Global Biodiversity Framework) สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ทั้งสามประการของอนุสัญญา (อนุรักษ์, ใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน, แบ่งปันผลประโยชน์อย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม) ซึ่งรัฐมนตรีด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศภาคีอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพได้รับรองปฏิญญาคุนหมิงในการประชุมระดับสูงของ การประชุมสมัชชาภาคีอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ สมัยที่ 15 (CBD COP 15) ช่วงที่ 1 ระหว่างวันที่ 12 – 13 ตุลาคม 2564 ณ สาธารณรัฐประชาชนจีน
ความหลากหลายทางชีวภาพ หมายถึงอะไร
ความหลากหลายทางชีวภาพ หมายถึง การมีสิ่งมีชีวิตหลายชนิด (species) หลายสายพันธุ์ (genetic) อาศัยอยู่ในถิ่นที่อยู่ต่าง ๆ หรืออยู่ในระบบนิเวศ (ecosystem) ที่แตกต่างกันบนโลก ความหลากหลายของชนิดพันธุ์ทำให้เราพบเห็นถึงความแตกต่างระหว่างพืชและสัตว์แต่ละชนิด ไม่ว่าจะเป็นสัตว์ที่อยู่ใกล้ตัว เช่น สุนัข แมว จิ้งจก นก ผีเสื้อ กล้วยไม้ กุหลาบ หรือสิ่งมีชีวิตที่อยู่ในป่าเขาลำเนาไพร เช่น เสือ ช้าง กวาง เก้ง ลิง ชะนีความหลากหลายของสายพันธุ์ที่เห็นได้ชัดเจนที่สุด คือ ความแตกต่างระหว่างพันธุ์พืชและสัตว์ต่างๆ ที่ใช้ในการเกษตร ความแตกต่างหลากหลายระหว่างสายพันธุ์ ทำให้สามารถเลือกบริโภคข้าวเจ้าหรือข้าวเหนียวตามที่ชอบ และยังช่วยให้เกษตรกรสามารถเลือกสายพันธุ์ปศุสัตว์ตามความต้องการของตลาดได้ เช่น ไก่พันธุ์เนื้อ ไก่พันธุ์ไข่ วัวพันธุ์นม วัวพันธุ์เนื้อ ความหลากหลายระหว่างระบบนิเวศเป็นความหลากหลายทางชีวภาพที่ซับซ้อน สามารถเห็นได้จากความแตกต่างระหว่างระบบนิเวศประเภทต่างๆ เช่น ป่าดงดิบ ทุ่งหญ้า ป่าชายเลน ทะเล บึง หนอง ชายหาด แนวปะการัง ตลอดจนระบบนิเวศที่มนุษย์สร้างขึ้น เช่น ทุ่งนา อ่างเก็บน้ำ หรือแม้กระทั่งชุมชนเมืองของเราเอง ซึ่งในระบบนิเวศเหล่านี้ จะมีสิ่งมีชีวิตก็ต่างชนิดกันและมีสภาพการอยู่อาศัยที่แตกต่างกัน
ความหลากหลายทางชีวภาพมีความสำคัญอย่างไร
ความหลากหลายทางชีวภาพมีความสำคัญต่อสิ่งมีชีวิตทุกชนิด โดยเฉพาะมนุษย์ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ
ความหลากหลายทางชีวภาพที่ได้พึ่งพาและใช้ความหลากหลายทางชีวภาพในการดำรงชีวิต ความหลากหลายทางชีวภาพคือต้นทางของแหล่งอาหารซึ่งกลายเป็นแหล่งวัตถุดิบที่ถูกนำมาใช้ในการปรับปรุงคัดเลือกพันธุ์เพื่อให้ได้ผลผลิตมากขึ้น เป็นแหล่งไม้สำหรับก่อสร้างที่อยู่อาศัยและทำเชื้อเพลิง รวมถึงเป็นแหล่งสมุนไพรสำหรับทำยารักษาโรค ซึ่งประโยชน์ที่ได้จากความหลากหลายทางชีวภาพมีนานัปการ ดังนี้
- ด้านอาหาร เช่น พืช ผัก ผลไม้ สัตว์ เห็ด สาหร่าย
- ด้านเศรษฐกิจ เช่น การนำผลผลิตจากป่ามาใช้ประโยชน์ เช่น ก่อสร้าง ไม้ฟืน โต๊ะ เก้าอี้ งานศิลปะ พืชพวกปาล์มน้ำมัน สบู่ดำ และละหุ่ง ผลิตเป็นน้ำมันเชื้อเพลิง เส้นใยพืชและสัตว์ในอุตสาหกรรมสิ่งทอ เช่น ฝ้าย ปอ ไหม ขนสัตว์ต่างๆ การใช้จุลินทรีย์ต่าง ๆ เช่น ยีสต์ในการผลิตแอลกอฮอล์ แบคทีเรียในการผลิตนมเปรี้ยว เป็นต้น)
- ด้านสุขภาพอนามัย เช่น การนำเหง้าขมิ้นชันนำมาสกัดบรรจุแคปซูลแก้ท้องอืดท้องเฟ้อ ใบและลำต้นฟ้าทะลายโจรใช้แก้ไข้
- ด้านการเกษตร มีการใช้ประโยชน์จากสายพันธุ์ต่างๆ ของพืชและสัตว์ที่มีข้อดีแตกต่างกันมาผสมพันธุ์ คัดเลือก และปรับปรุงพันธุ์ เพื่อให้ได้ลักษณะตามที่ต้องการ เหมาะสมกับสภาพภูมิประเทศ และภูมิอากาศ
- ด้านระบบนิเวศ นอกจากจะเป็นแหล่งอาศัยของสิ่งมีชีวิต เช่น แนวปะการังและหญ้าทะเลเป็นที่อยู่ของสัตว์น้ำแล้ว ความหลากหลายทางชีวภาพยังช่วยรักษาสมดุลของระบบนิเวศและช่วยบรรเทาความรุนแรงของภัยธรรมชาติ เช่น ป่าชายเลนช่วยกันลมและกระแสคลื่น ป่าไม้ช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
สถานการณ์ความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศไทยเป็นอย่างไร
ประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง ด้วยตั้งอยู่ในโซนร้อนเหนือเส้นศูนย์สูตรติดทะเล ทำให้มีสภาพภูมิอากาศที่เหมาะสมต่อการอยู่รอด การเจริญเติบโตและการแพร่พันธุ์ของสิ่งมีชีวิตมากมายหลากหลายชนิด มีระบบนิเวศที่กระจายอยู่ทั้งบนบกในน้ำและในทะเล ได้แก่ ภูเขา ป่าไม้ พื้นที่แห้งแล้งกึ่งชื้น เกษตรแหล่งน้ำในแผ่นดิน ทะเลและชายฝั่ง และเกาะ โดยพื้นที่ประเทศกว่าครึ่งหนึ่งเป็นพื้นที่ทำการเกษตรแบบปลูกพืชเชิงเดี่ยวเป็นส่วนใหญ่ รองลงมาเป็นระบบนิเวศป่าไม้ ปัจจุบันพื้นที่เกษตรบางส่วนมีการเปลี่ยนแปลงไปสู่ระบบเกษตรแปลงใหญ่ และเกษตรอินทรีย์ค่อยๆ ขยายตัว พื้นที่ป่าไม้มีแนวโน้มค่อนข้างคงที่ พื้นที่ชายฝั่งทะเลคงเผชิญกับการกัดเซาะชายฝั่ง พื้นที่ป่าชายหาดลดลง และยังไม่มีการจัดการแหล่งท่องเที่ยวบนเกาะอย่างเป็นระบบเท่าที่ควร พื้นที่ภูเขายังขาดองค์ความรู้ในการจัดการ ซึ่งภัยคุกคามต่อระบบนิเวศส่วนใหญ่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดิน การใช้สารเคมีทางการเกษตร การจัดการขยะที่ไม่มีประสิทธิภาพ การแพร่ระบาดของชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกราน ภัยพิบัติ น้ำท่วม ภัยแล้ง ไฟป่า และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ด้วยระบบนิเวศที่หลากหลายจึงเป็นที่อยู่อาศัยของพันธุ์พืช สัตว์ และจุลินทรีย์อย่างอุดมสมบูรณ์ พบพืชมีท่อลำเลียง (ได้แก่ เฟิร์น พืชเมล็ดเปลือย พืชใบเลี้ยงเดี่ยว และพืชใบเลี้ยงคู่) ประมาณ 12,000 ชนิด สัตว์มีกระดูกสันหลัง (ได้แก่ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม นก สัตว์เลื้อยคลาน สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก และปลา) พบประมาณ ๕,๐๐๐ ชนิด สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง (ได้แก่ สัตว์ขาปล้อง กลุ่มมอลลัสกา กลุ่มแมงกะพรุนปะการัง กลุ่มเอคไคโนเดิร์ม กลุ่มหนอนปล้อง กลุ่มฟองน้ำ กลุ่มเฮมิคอร์ดาตา กลุ่มหนอนตัวกลม กลุ่มหนอนตัวแบน และกลุ่มหวีวุ้น) พบกว่า 6,800 ชนิด และจุลินทรีย์ (ราเส้นสาย เห็ด ยีสต์ แบคทีเรีย สาหร่ายขนาดเล็ก ไลเคน และแอคติโนมัยสีท) พบประมาณ 10,000 ชนิด แต่สถานการณ์ความหลากหลายของชนิดพันธุ์ในประเทศไทยกำลังลดลงอย่างรวดเร็วในอัตราที่น่าวิตกเป็นอย่างยิ่ง โดยมีภัยคุกคามจากหลายสาเหตุ เช่น การทำลายและรุกล้ำพื้นที่ความหลากหลายทางชีวภาพสูง การบุกรุกพื้นที่ป่าเพื่อเป็นพื้นที่เกษตรกรรมและที่อยู่อาศัย การพัฒนาเมือง คมนาคม และโครงการก่อสร้างต่าง ๆ การเกษตรที่มีการผลิตสายพันธุ์เดียวเพื่อการค้าโดยละทิ้งสายพันธุ์พื้นเมืองดั้งเดิม การทำประมงเกินศักยภาพการผลิต ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกราน การท่องเที่ยว การเก็บเกี่ยวเพื่อการค้า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ น้ำท่วม ไฟป่า มลพิษทางดินน้ำ และอากาศ
ยุทธศาสตร์และแผนงาน
คณะทำงานอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อมที่ สผ. รับผิดชอบมีกี่คณะ อะไรบ้าง
มี 3 คณะ ได้แก่
- คณะทำงานอาเซียนด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ (ASEAN Working Group on Nature Conservation and Biodiversity: AWGNCB)
- คณะทำงานอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อมเมืองที่ยั่งยืน (ASEAN Working Group on Environmentally Sustainable Cities: AWGESC)
- คณะทำงานอาเซียนด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (ASEAN Working Group on Climate Change: AWGCC)
แผนขับเคลื่อนการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน พ.ศ. 2560 – 2580 (ฉบับปรับปรุง ครั้งที่ 1) มีภาคส่วนหลักที่ขับเคลื่อนการบรรลุเป้าหมาย SCP กี่ภาคส่วน
มี 6 ภาคส่วน ได้แก่
- ภาคอุตสาหกรรมการผลิต
- ภาคเกษตรกรรมและอาหาร
- ภาคบริการและการท่องเที่ยว
- ภาคเมืองและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
- ภาคการจัดซื้อจัดจ้างที่ยั่งยืน
- ภาคการสร้างความตระหนักรู้และการศึกษา
ทั้งนี้ สามารถดาวน์โหลดเอกสารได้ที่ https://www.onep.go.th/ebook/spd/Final-SCP-Roadmap-2017-2037.pdf
การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม
การพิจารณาว่าโครงการ กิจการ หรือการดำเนินการใด เข้าข่ายต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม จะต้องพิจารณาจากกฎหมายใด
1. ประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดโครงการ กิจการ หรือการดำเนินการ ซึ่งต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม และหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ลงวันที่ 19 พฤศจิกายน 2561
2. ประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดโครงการ กิจการ หรือการดำเนินการ ซึ่งต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม และหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (ฉบับที่ 2) ลงวันที่ 28 พฤศจิกายน 2562
3. ประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดโครงการ กิจการ หรือการดำเนินการ ซึ่งต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม และหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (ฉบับที่ 3) ลงวันที่ 18 มกราคม 2564
4. ประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดโครงการ กิจการ หรือการดำเนินการ ซึ่งต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม และหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (ฉบับที่ 4) ลงวันที่ 28 มิถุนายน 2564
5. ประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดโครงการ กิจการ หรือการดำเนินการที่อาจมีผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ คุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพ อนามัย คุณภาพชีวิต ของประชาชนในชุมชนอย่างรุนแรง ซึ่งต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม และหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ลงวันที่ 19 พฤศจิกายน 2561
6. ประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดโครงการ กิจการ หรือการดำเนินการที่อาจมีผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ คุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพ อนามัย คุณภาพชีวิต ของประชาชนในชุมชนอย่างรุนแรง ซึ่งต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม และหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2562 ลงวันที่ 28 พฤศจิกายน 2562
7. ประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมว่าด้วยการกำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมในจังหวัดนั้น ๆ
8. มติคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับป่าอนุรักษ์เพิ่มเติม (13 กันยายน 2537) และกลไกการดำเนินงานด้านการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการต่าง ๆ ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2554
อาคารสูงหรืออาคารขนาดใหญ่พิเศษ พิจารณาอย่างไรว่าเข้าข่ายต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม
อาคารสูงหรืออาคารขนาดใหญ่พิเศษ ตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร ที่มีความสูงตั้งแต่ ๒๓ เมตรขึ้นไป หรือมีพื้นที่รวมกันทุกชั้นหรือชั้นหนึ่งชั้นใดในหลังเดียวกันตั้งแต่ 10,000 ตารางเมตรขึ้นไป ซึ่งมีลักษณะที่ตั้งหรือการใช้ประโยชน์ในอาคารอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังนี้
1. อาคารที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำตามเอกสารท้ายประกาศ 2 ฝั่งทะเล หรือทะเลสาบ หรือชายหาด หรือที่ตั้งอยู่ใกล้หรืออยู่ในอุทยานแห่งชาติ หรืออุทยานประวัติศาสตร์ ซึ่งเป็นบริเวณที่อาจจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม
2. อาคารที่ใช้ในการประกอบธุรกิจค้าปลีกหรือค้าส่ง
3. อาคารที่ใช้เป็นสำนักงานหรือที่ทำการเอกชน
จะเข้าข่ายต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตามประกาศกระทรวงทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดโครงการ กิจการ หรือการดำเนินการ ซึ่งต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม และหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ลงวันที่ 19 พฤศจิกายน 2561 เอกสารท้ายประกาศ 4 ลำดับที่ 27
โรงแรมและอาคารอยู่อาศัยรวม พิจารณาอย่างไรว่าเข้าข่ายต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม
โรงแรมหรือสถานที่พักตากอากาศตามกฎหมายว่าด้วยโรงแรมและอาคารอยู่อาศัยรวมตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร ที่มีจำนวนห้องพักตั้งแต่ 80 ห้องขึ้นไป หรือมีพื้นที่ใช้สอยตั้งแต่ 4,000 ตารางเมตรขึ้นไป จะเข้าข่ายต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตามประกาศกระทรวงทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดโครงการ กิจการ หรือการดำเนินการ ซึ่งต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม และหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ลงวันที่ 19 พฤศจิกายน 2561 เอกสารท้ายประกาศ 4 ลำดับที่ 30 และ 31
ถนนหรือการก่อสร้างสะพาน พิจารณาอย่างไรว่าเข้าข่ายต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม
ทางหลวงหรือถนนซึ่งมีความหมายตามกฎหมายว่าด้วยทางหลวง ตามพระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2549 ที่ตัดผ่านพื้นที่ 20.1 – 20.7 ตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดโครงการ กิจการ หรือการดำเนินการ ซึ่งต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม และหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ลงวันที่ 19 พฤศจิกายน 2561 หรือกรณีตัดผ่านพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 ตามประกาศกระทรวงฯ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2562 ลงวันที่ 28 พฤศจิกายน 2562 เอกสารท้ายประกาศ 4 ลำดับ 33 โครงการ กิจการ หรือการดำเนินการทุกประเภทที่อยู่ในพื้นที่ที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบกำหนดให้เป็นพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 ทุกขนาด ยกเว้น 33.1 – 33.3 จะเข้าข่ายต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือตัดผ่านพื้นที่หรือตั้งอยู่ในพื้นที่ตามมติคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับป่าอนุรักษ์เพิ่มเติม (13 กันยายน 2537) และกลไกการดำเนินงานด้านการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการต่าง ๆ ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2554 จะเข้าข่ายต้องจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น
โครงการท่าเทียบเรือ มีการกำหนดประเภทและขนาดอย่างไรว่าเข้าข่ายต้องจัดทำจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม
โครงการท่าเทียบเรือ มีการกำหนดขนาดของโครงการที่ต้องจัดทำรายงาน EIA และรายงาน EHIA ซึ่งโครงการท่าเทียบเรือ ยกเว้นโครงการ กิจการ หรือการดำเนินการเพื่อความมั่นคงแห่งชาติตามกฎหมายว่าด้วยสภาความมั่นคงแห่งชาติที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี ที่รองรับเรือขนาดตั้งแต่ 500 ตันกรอสขึ้นไปหรือมีความยาวหน้าท่าตั้งแต่ 100 เมตร แต่ไม่ถึง 300 เมตร หรือมีพื้นที่ท่าเทียบเรือรวมตั้งแต่ 1,000 ตารางเมตร แต่ไม่ถึง 10,000 ตารางเมตร จะเข้าข่ายต้องจัดทำรายงาน EIA และโครงการท่าเทียบเรือ ยกเว้นโครงการ กิจการ หรือการดำเนินการเพื่อความมั่นคงแห่งชาติตามกฎหมายว่าด้วยสภาความมั่นคงแห่งชาติที่ได้รับความเห็นชอบจามคณะรัฐมนตรี ซึ่ง 1) ที่มีความยาวหน้าท่าตั้งแต่ 300 เมตรขึ้นไป หรือมีพื้นที่หน้าท่าเรือรวมตั้งแต่ 10,000 ตารางเมตรขึ้นไป ยกเว้นท่าเรือที่ชาวบ้านใช้สอยในชีวิตประจำวันและการท่องเที่ยว ๒) ที่มีการขุดร่องน้ำตั้งแต่ 100,000 ลูกบาศก์เมตรขึ้นไป และ 3) ที่มีการขนถ่ายวัตถุอันตรายหรือกากของเสียอันตรายซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งกลุ่ม 1 มีปริมาณรวมกันในเดือนใดเดือนหนึ่งของรอบปีตั้งแต่ 25,000 ตันต่อเดือนขึ้นไป หรือมีปริมาณรวมกันทั้งปีตั้งแต่ 2500,000 ตันต่อปีขึ้นไป จะเข้าข่ายต้องจัดทำรายงาน EHIA
พิจารณาอย่างไรว่าการดำเนินโครงการ กิจการ ในพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 เข้าข่ายต้องต้องจัดทำจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม
โครงการ กิจการ หรือการดำเนินการทุกประเภทที่อยู่ในพื้นที่ที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบกำหนดให้เป็นพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 ทุกขนาด ต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ยกเว้น 33.1 โครงการ กิจการ หรือการดำเนินการการพัฒนาชุมชนและการจัดที่ดิน ที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี 33.2 โครงการ กิจการ หรือการดำเนินการในเขตป่าชุมชนตามกฎหมายว่าด้วยป่าชุมชน และ 33.3 โครงการ กิจการ หรือการดำเนินการของหน่วยงานของรัฐที่ได้เข้าใช้ประโยชน์ก่อนวันที่ประกาศนี้มีผลบังคับใช้ ซึ่งได้ดำเนินการตามวัตถุประสงค์เดิม และไม่มีการขยายพื้นที่ให้แตกต่างไปจากเดิม