โคลอมเบียประกาศให้เมือง Cali เป็นสถานที่จัดการประชุม CBD COP 16 ระหว่างวันที่ 21 ต.ค. – 1 พ.ย. 67
หลังจากโคลอมเบียประกาศเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม CBD COP 16 เมื่อปลายปีที่ผ่านมา สำนักเลขาธิการ CBD และสาธารณรัฐโคลอมเบียได้ร่วมกันคัดเลือกเมืองที่มีความพร้อมเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม COP16 และเมื่อวันที่ 21 ก.พ. 2567 ที่ผ่านมา ได้มีการประกาศอย่างเป็นทางการว่า เมืองกาลิ (Cali) หรือ ซานดิเอโก เดอ กาลิ (Satiago de Cali) สาธารณรัฐโคลอมเบียจะเป็นสถานที่จัดการประชุม COP 16 ระหว่างวันที่ 21 ต.ค. – 1 พ.ย. 67
ผ่านเว็บไซต์ https://www.cbd.int/article/colombia-host-city-cali-cop16
เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2566 สำนักเลขาธิการ CBD ได้ประกาศแสดงความยินดีกับสาธารณรัฐโคลอมเบียที่ได้เสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม COP 16 หรือการประชุมสมัชชาภาคีอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ สมัยที่ 16 แทนประเทศทูร์เคียที่ถอนตัวไป โดย Susana Muhamad รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาที่ยั่งยืนของโคลอมเบียได้ประกาศการเป็นเจ้าภาพ COP 16 ของสาธารณรัฐโคลอมเบีย ในห้วงการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 28 หรือ UNFCCC COP 28 เมื่อเดือนธันวาคม 2566 โดยกล่าวว่า “นี่จะเป็นโอกาสอันดีสำหรับโคลอมเบียซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความหลากหลายทางชีวภาพมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก การเป็นเจ้าภาพครั้งนี้จะเป็นโอกาสที่จะส่งข้อความจากลาตินอเมริกาไปสู่ชาวโลกถึงความสำคัญของการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศกับการคุ้มครองความหลากหลายทางชีวภาพ” และยังได้ประกาศ Theme ของ COP16 คือ “Peace with Nature”
โดยในการประชุม COP 16 มี 3 ประเด็นที่เป็นไฮไลท์สำคัญที่ภาคีอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพต้องเร่งดำเนินการ ดังนี้
1. การแปลงแผนงานความหลากหลายทางชีวภาพ (The Biodiversity Plan) ไปสู่การปฏิบัติในระดับประเทศ
เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา สำนักเลขาธิการ CBD ได้เผยแพร่ “The Biodiversity Plan (for life on earth)” หรือ“แผนงานความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งเป็นการปรับเปลี่ยนรูปแบบการสื่อสาร ‘กรอบงานคุนหมิงมอนทรีออล-ว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพของโลก (Kunming-Montreal Global Biodiversity Framework) เพื่อให้สาธารณชนเข้าใจง่ายขึ้น
The Biodiversity Plan ประกอบด้วย 4 เป้าประสงค์ภายในปี ค.ศ. 2050 (2050 Goals) และ 23 เป้าหมายที่ต้องดำเนินการภายใน ค.ศ. 2030 (2030 Targets) โดยอนุสัญญาฯ ได้จัดทำคู่มือเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจแต่ละเป้าหมาย เช่น ความสำคัญ ตัวชี้วัด คำถามชี้แนะในการจัดทำเป้าหมายชาติ เป็นต้น เผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ https://www.cbd.int/gbf/targets
ในการประชุม COP 16 ประเทศภาคีสมาชิกจะร่วมกันแสดงให้เห็นว่าการจัดทำแผนปฏิบัติการด้านความหลากหลายทางชีวภาพแห่งชาติ (National Biodiversity Strategies and Action Plans: NBSAPs) มีความสอดคล้องกับกับแผนงานความหลากหลายทางชีวภาพมากแค่ไหน ทั้งนี้ การติดตาม การรายงานและการทบทวน NBSAP เป็นกุญแจสำคัญในการขับเคลื่อนการดำเนินงานระดับประเทศเพื่อบรรลุเป้าหมายและตัวชี้วัดของ The Biodiversity Plan ในระดับโลก
2. การระดมทรัพยากรให้เพียงพอที่จะสนับสนุนการดำเนินงานด้านความหลากหลายทางชีวภาพในทุกด้าน
การดำเนินงานด้านความหลากหลายทางชีวภาพจำเป็นต้องอาศัยทรัพยากรทางการเงินการเสริมสร้างสมรรถนะ ความร่วมมือด้านเทคนิคและวิทยาศาสตร์ และการเข้าถึงและการถ่ายทอดเทคโนโลยีที่เพียงพอจึงจะสามารถดำเนินการในทางปฏิบัติได้ โดยคาดหวังว่าในการประชุม COP 16 ภาคีสมาชิกจะสามารถปิดช่องว่างทางการเงินเพื่อความหลากหลายทางชีวภาพที่กำหนดไว้ 700 พันล้านดอลลาร์ต่อปี ซึ่งภาคีสมาชิกมีเวลาเพียงไม่กี่ปีในการบรรลุ 2030 Targets แม้ว่ากองทุนสิ่งแวดล้อมโลก รอบที่ 8 (GEF-8) ได้มีการสนับสนุนทรัพยากรทางการเงินเพื่อความหลากหลายทางชีวภาพแต่ก็ยังไม่เพียงพอ ดังนั้นจำเป็นต้องมีกลไกอื่น ๆ ร่วมด้วย รวมถึงกองทุน Global Biodiversity Framework Fund (GBFF) ที่จัดตั้งขึ้นเมื่อ ค.ศ. 2023 https://www.cbd.int/article/launch-global-biodiversity-framework-fund
3. การเร่งรัดให้เกิดความก้าวหน้าของกลไกการเข้าถึงและการแบ่งปันผลประโยชน์
มาตรา 15 ของ CBD ได้กำหนดกฎเกณฑ์ว่าด้วยการเข้าถึงและการแบ่งปันผลประโยชน์จากการใช้ทรัพยากรพันธุกรรม (Access and Benefits Sharing: ABS) โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้แน่ใจว่าการเข้าถึงและการใช้ทรัพยากรพันธุกรรมจะทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้ให้ ผู้ใช้บริการ ระบบนิเวศ และชุมชน โดยคาดหวังว่าก่อนการประชุม COP16 จะมีประเทศที่ให้สัตยาบันต่อพิธีสารนาโงยาเพิ่มขึ้นจาก 140 ประเทศในปัจจุบัน การเข้าถึงและการแบ่งปันผลประโยชน์ทรัพยากรพันธุกรรมถือเป็นหนึ่งในเป้าหมายของแผนงานความหลากหลายทางชีวภาพ และเป็นประเด็นสำคัญที่จะมีการเจรจา ในการประชุม COP16 ที่คาดว่าภาคีสมาชิกจะเห็นพ้องในการดำเนินกลไกพหุภาคีเพื่อการแบ่งปันผลประโยชน์จาก DSI ของทรัพยากรพันธุกรรมอย่างยุติธรรมและเท่าเทียม ซึ่งจะมีการจัดประชุมเพี่อการเจรจา ณ นครมอนทรีออล ประเทศแคนาดา ในเดือนสิงหาคมปีนี้