30 มกราคม 2566 Textile Recycling เจาะเทรนด์แปลงขยะสู่เสื้อผ้าจากวัสดุรีไซเคิล รักษ์โลก

ที่มา : https://www.springnews.co.th/keep-the-world/834714
ทำไมเสื้อผ้าถึงทำร้ายโลก? Textile Recycling หรือเสื้อผ้าที่ทำมาจากขยะสิ่งทอจะเข้ามาเป็นเทรนด์ใหม่ของวงการแฟชั่น ตอบโจทย์ทั้งผู้บริโภคในแง่ของการรักษ์สิ่งแวดล้อม และผู้ผลิตทั้งในด้านการลดความเสี่ยงจากการผันผวนของราคาวัตถุดิบ
อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มเป็นอุตสาหกรรมที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเป็นลำดับที่ 4 รองจากอุตสาหกรรมอาหาร ก่อสร้าง และการขนส่ง เมื่อเทียบจากการใช้วัตถุดิบและน้ำในขั้นตอนการผลิตที่มีปริมาณสูง ทำให้วงการแฟชั่นทั่วโลกหันมาให้ความสนใจกับเทรนด์เสื้อผ้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยปัจจุบันมีหลายบริษัทเสื้อผ้าชั้นนำร่วมลงนามและสนับสนุนกฎบัตรสหประชาชาติด้านอุตสาหกรรมแฟชั่นว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Fashion Industry Charter for Climate Action) โดยมีเป้าหมายที่จะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลง 50% ภายในปี 2573 และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2593 ทำให้ในระยะเวลา 3-5 ปีที่ผ่านมา บริษัทเสื้อผ้าต่างๆ เริ่มปรับเปลี่ยนการผลิตเสื้อผ้าจากวัสดุรีไซเคิล (Textile Recycling)
ทำความรู้จักกับ Textile Recycling ก่อน
Textile Recycling คือ เสื้อผ้าที่ผลิตมาจากขยะสิ่งทอ โดยวัสดุที่ใช้สำหรับการรีไซเคิลสิ่งทอสามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลัก ได้แก่
1. ขยะสิ่งทอก่อนการบริโภค (Pre-consumer) ส่วนใหญ่เป็นเศษด้ายและเศษผ้าที่เหลือใช้จากโรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม
2. ขยะสิ่งทอหลังการบริโภค (Post-consumer) คือ สิ่งทอที่ถูกทิ้ง เสื่อมสภาพหรือผ่านการใช้งานแล้ว เช่น เสื้อผ้าเก่า และของใช้ในบ้านต่างๆ
สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมแค่ไหน
อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สูงถึงราว 1.7 พันล้านตันต่อปี หรือประมาณ 8-10% ของการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทั่วโลก ซึ่งมากกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากอุตสาหกรรมการบินและการขนส่งทางทะเลรวมกัน
ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากประเทศที่มีโรงงานผลิตเสื้อผ้าและเครื่องนุ่งห่มขนาดใหญ่อย่างจีนและอินเดียพึ่งพาถ่านหินและก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้าเป็นหลัก และการเติบโตของ Fast Fashion หรือเสื้อผ้าตามกระแสนิยมที่มีราคาถูกด้วยต้นทุนการผลิตที่ต่ำ ทำให้สามารถผลิตในปริมาณที่มากและรวดเร็ว ส่งผลให้มลพิษที่ปลดปล่อยออกมามากขึ้นตามไปด้วย
โดยจากงานวิจัยของ Quantis (2018) พบว่า การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในการผลิตสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มส่วนใหญ่มาจาก
36% จากกระบวนการย้อมสีและตกแต่งสำเร็จ
28% การเตรียมเส้นด้ายหรือการปั่น
15% การผลิตเส้นใย
12% การเตรียมผ้าหรือการถักทอ
นอกจากนี้การผลิตสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มมีการใช้น้ำจำนวนมาก ตั้งแต่การใช้น้ำเพื่อการเกษตรไปจนถึงการใช้น้ำในการย้อมสีและตกแต่ง
โดยจากรายงานของ UNESCO-IHE ชี้ว่า การผลิตเสื้อยืด 1 ตัวต้องใช้น้ำมากถึง 2,700 ลิตร เทียบเท่าปริมาณน้ำสำหรับบริโภคต่อคนได้เกือบ 3 ปี
การใช้สารเคมีในการฟอกย้อมสียังก่อให้เกิดมลพิษทางน้ำกว่า 20% ของปริมาณน้ำเสียทั่วโลก ขณะที่การผลิตสิ่งทอจากเส้นใยธรรมชาติต้องใช้ที่ดินจำนวนมากในการปลูกฝ้ายและเลี้ยงสัตว์ ซึ่งในอนาคต ความต้องการเสื้อผ้าที่สูงขึ้นตามกำลังซื้อของผู้บริโภค จะก่อให้เกิดมลพิษจากการผลิตเสื้อผ้ามากขึ้นและยิ่งจะส่งผลลบต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้นไปด้วย
กระบวนการผลิต Textile Recycling
– เริ่มจากการนำวัสดุของแข็งที่ติดมากับเสื้อผ้าออก เช่น กระดุมและซิป
– จากนั้นนำขยะสิ่งทอมาตัดหรือฉีกออกเป็นชิ้นเล็กๆ
– ทำการคัดแยกเฉดสีเพื่อเข้าสู่กระบวนการแปลงสภาพ
โดยการนำเอาตัวทำละลายที่เหมาะสมกับเส้นใยแต่ละชนิดมาทำละลายเพื่อขจัดสิ่งแปลกปลอม
แล้วอัดขึ้นรูปเพื่อนำมาปั่นเป็นเส้นใยรีไซเคิลสำหรับผลิตเสื้อผ้าใหม่หรือผลิตภัณฑ์สิ่งทออื่นๆ
อย่างไรก็ดี เสื้อผ้าส่วนใหญ่ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อรีไซเคิลได้ 100% เนื่องจากส่วนประกอบและเส้นใยของเสื้อผ้ามีความหลากหลาย ซึ่งเส้นใยแต่ละชนิดมีความสามารถในการรีไซเคิลต่างกัน อีกทั้งกระบวนการรีไซเคิลสิ่งทอจะส่งผลให้ความยาวของเส้นใยสั้นลง จึงต้องทำการผสมกับเส้นใยบริสุทธิ์ในสัดส่วนราว 30-50% เพื่อให้เส้นใยมีคุณภาพมากขึ้น
ในปัจจุบันมีบริษัทผู้ประกอบการเสื้อผ้าทั้งในต่างประเทศและผู้ประกอบการไทยออกผลิตภัณฑ์เสื้อผ้าที่ทำมาจากวัสดุรีไซเคิลมากขึ้น ซึ่งบางบริษัทมีเป้าหมายการผลิตเสื้อผ้าที่ทำมาจากผ้ารีไซเคิล 100% ในช่วง 3-8 ปีข้างหน้า เช่น Zara และ H&M เป็นต้น
ทำไมตลาด Textile Recycling จึงมีความน่าสนใจ
Textile Recycling เป็นแนวทางที่สอดรับกับ BCG Model ซึ่งตอบโจทย์ทั้งผู้บริโภคในแง่ของการรักษ์สิ่งแวดล้อม และผู้ผลิตทั้งในด้านการลดความเสี่ยงจากการผันผวนของราคาวัตถุดิบ รวมถึงเทคโนโลยีที่มีความก้าวหน้า ซึ่งจะทำให้การรีไซเคิลสิ่งทอมีประสิทธิภาพมากขึ้น ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยกว่าการผลิตเสื้อผ้าทั่วไป ทั้งในแง่ของการใช้ทรัพยากรน้ำและที่ดิน รวมทั้งลดการใช้ปุ๋ยเคมี ยาฆ่าแมลงและสารเคมีในการฟอกย้อมสี