12 ธันวาคม 2565 “ข้าวลดโลกร้อน” เพิ่มศักยภาพภาคเกษตร ลดผลกระทบสภาพอากาศเปลี่ยน

การเพิ่มพื้นที่ “การทำนาข้าวที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำ” มีศักยภาพสูงมากในการลดผลกระทบและการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เมื่อเกษตรกรและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้อง
ในห่วงโซ่คุณค่าการผลิตข้าวตระหนักถึงประโยชน์ที่ได้และร่วมมือกันเตรียมความพร้อมรับมือกับ
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
โครงการความร่วมมือไทย-เยอรมันด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภาคเกษตรกรรม
(Thai-German Climate Programme – Agriculture) ประกาศความสำเร็จสร้างการมีส่วนร่วม
เพื่อส่งเสริมวิถีการปลูกข้าวลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในประเทศไทยให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และ
การพัฒนาระบบการตรวจวัด รายงานและทวนสอบ (Monitoring, Reporting and Verification: MRV) สำหรับภาคส่วนข้าว นับเป็นความก้าวหน้าของภาคเกษตรไทยในการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรม
มาประยุกต์ใช้ เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ของเกษตรกรและเจ้าหน้าที่ภาครัฐในระดับปฏิบัติการและฝ่ายวิจัย
ที่เกี่ยวข้อง และสามารถนำความรู้ไปสู่การปฏิบัติเพื่อลดผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
จากการปลูกข้าว
ข้าวมีบทบาทสำคัญกับการพัฒนาประเทศเพราะเป็นผลผลิตส่งออกหลักของภาคเกษตรไทย และยังเป็นอาหารหลักหล่อเลี้ยงประชากรไทยจากรุ่นสู่รุ่น อย่างไรก็ตาม รายงานความก้าวหน้ารายสองปี
ฉบับที่ 2 (The 2nd Biennial Update Report: SBUR) ระบุว่า ภาคเกษตรไทยโดยเฉพาะวิถีการทำนาแบบดั้งเดิมที่นิยมให้มีน้ำขังอยู่ในแปลงนาเป็นระยะเวลานาน ส่งผลให้เกิดปฏิกิริยาก๊าซมีเทนปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศมากถึง 55% ก๊าซมีเทนเป็นก๊าซเรือนกระจกที่ส่งผลให้เกิดภาวะโลกร้อนมากกว่า
ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 28 เท่า
โครงการความร่วมมือไทยเยอรมันด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภาคเกษตรกรรม มุ่งเน้นการสร้างการมีส่วนร่วมกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งในระดับประเทศและนานาชาติ ประกอบด้วย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมการข้าว สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร และสถาบันวิจัยข้าวระหว่างประเทศ