9 ธันวาคม 2564 ใช้สเปิร์มปลาแซลมอน สร้างพลาสติกทางเลือก

ที่มา;
https://www.thairath.co.th/news/foreign/2260615
พลาสติกถือเป็นปัญหาใหญ่สำหรับสิ่งแวดล้อม เนื่องจากทำมาจากปิโตรเคมีที่ต้องการความร้อน และมีสารพิษจำนวนมากในการผลิต แถมยังใช้เวลาหลายร้อยปีในการทำลาย ส่วนที่จะนำกลับมาใช้ใหม่ก็ทำได้น้อยมาก ขยะพลาสติกจึงมักจะนำไปเผาหรือส่งลงหลุมฝังกลบ ด้วยเหตุผลเหล่านี้ จึงมีการวิจัยมากมาย เพื่อค้นหาทางเลือกอื่นที่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติน้อยกว่า เช่น พลาสติกที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพทำจากวัสดุอย่างแป้งข้าวโพดและสาหร่าย แต่ก็ต้องใช้พลังงานเป็นจำนวนมากในการผลิต และอาจรีไซเคิลได้ยากเมื่อเร็ว ๆ นี้ นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเทียนจิน ในจีน คิดค้นพลาสติกชนิดใหม่ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทำจากสเปิร์มของปลาแซลมอน ซึ่งดีเอ็นเอสายสั้น 2 เส้นจากสเปิร์มของปลาดังกล่าวจะถูกรวมเข้ากับสารเคมีจากน้ำมันพืชที่เกาะติดกัน ทำให้เกิดเป็นวัสดุอ่อนนุ่ม คือ ไฮโดรเจล จากนั้นไฮโดรเจลจะถูกหล่อหลอมเป็นรูปทรงต่าง ๆ และนำไปผ่านกระบวนการทำแห้งแบบแช่เยือกแข็ง เพื่อขจัดความชื้น และทำให้วัสดุแข็งตัว ทั้งนี้ นักวิทยาศาสตร์ทดสอบสร้างถ้วยที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพจากสเปิร์มของปลาแซลมอนเป็นผลสำเร็จ นักวิทยาศาสตร์เผยว่า การสร้างพลาสติกจากดีเอ็นเอ ทำให้เกิดการปล่อยคาร์บอนน้อยกว่าพลาสติกโพลีสไตรีนถึง 97% และรีไซเคิลได้ง่ายกว่า ซึ่งพลาสติกจะย่อยสลายได้ด้วยเอนไซม์ย่อยดีเอ็นเอ อย่างไรก็ตาม วัสดุแบบใหม่นี้ยังมีข้อจำกัดบางประการ ตรงที่การจะนำกลับมาใช้ใหม่โดยใช้น้ำเพียงอย่างเดียว นั่นหมายความว่าจะต้องผ่านกระบวนการทำให้แห้ง แม้จะเพิ่มสารเคลือบกันน้ำได้แต่จะทำให้รีไซเคิลได้ยากขึ้น อย่างไรก็ตาม นักวิจัยเชื่อว่า วัสดุนี้สามารถใช้กับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ต้องเก็บไว้ในที่แห้ง และบรรจุภัณฑ์บางประเภทได้ดี