4 กุมภาพันธ์ 2563 ทฤษฎีเพิ่มน้ำใต้ดินรับมือแล้งได้ผลเกษตรมีใช้ตลอดปี

DCIM\100MEDIA\DJI_0244.JPG

ที่มา: https://www.posttoday.com/social/local/613743

ในช่วงนี้สถานการณ์ภัยแล้งที่ จ. นครพนม ยังส่อวิกฤติ เนื่องจากน้ำโขงลดระดับรวดเร็วในรอบหลาย 10 ปี ล่าสุดระดับต่ำสุดที่ประมาณ 1 – 1.50 เมตร ส่งผลให้เกิดสันดอนทรายเป็นพื้นที่กว้างกลางน้ำโขงหลายจุด นอกจากนี้ ยังส่งผลกระทบทำให้ลำน้ำสาขาสายหลัก มีปริมาณน้ำน้อยกว่าทุกปี เริ่มกระทบพื้นที่การเกษตรขาดแคลนน้ำ และมีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบต่อเนื่อง เพราะฤดูแล้งยังอีกหลายเดือน ทำให้หลายหน่วยงานเกี่ยวข้องต่างเร่งเตรียมพร้อมจัดหาแหล่งน้ำสำรอง รับมือช่วยเหลือชาวบ้าน ที่ประสบปัญหาเช่นเดียวกันกับ องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านผึ้ง อ. เมืองนครพนม จ. นครพนม โดยทางด้าน ด.ต. พิทักษ์ ต่อยอด นายก อบต. บ้านผึ้ง พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร และผู้นำชุมชนท้องถิ่น ได้นำร่องดำเนินโครงการจัดตั้งธนาคารน้ำ เพื่อรับมือภัยแล้ง รวมถึงป้องกันแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในชุมชน โดยมีเป้าหมายให้พื้นที่ตำบลบ้านผึ้ง รวม 23 หมู่บ้าน เป็นต้นแบบในการจัดตั้งธนาคารน้ำ ด้วยการนำหลักทฤษฎีที่ไปศึกษามาจากหลายจังหวัดของภาคอีสานที่ประสบความสำเร็จ มาดำเนินการต่อยอดให้ชุมชน ร่วมกันดำเนินการภายใต้โครงการเพิ่มศักยภาพแหล่งน้ำต้นทุนด้วยระบบธนาคารน้ำใต้ดิน ดำเนินการขุดเจาะบ่อน้ำเป็นธนาคารน้ำใต้ดิน ในจุดที่ผ่านการสำรวจ ซึ่งจะเน้นให้มีการขุดเจาะสะดือของบ่อ ให้มีความลึกไม่ต่ำกว่า 5 – 6 เมตร หรือผ่านชั้นดินดาน หรือ ดินตับม้าลงไป เพื่อที่จะทำให้เกิดการดูดซับน้ำลงน้ำใต้ดิน รวมถึงมีการเชื่อมสายน้ำใต้ดิน ตามทฤษฎีธนาคารน้ำใต้ดิน ที่จะเป็นการเพิ่มปริมาณน้ำใต้ดินให้มีความอุดมสมบูรณ์ รับมือปัญหาภัยแล้ง ทำให้อ่างเก็บน้ำลำห้วย รวมถึงน้ำบาดาลใต้ดิน ไม่แห้งขอด มีใช้ตลอดปี ซึ่งหลังดำเนินการนำร่อง ในช่วง 1 – 2 ปี ที่ผ่านมา พบว่า สามารถช่วยลดปัญหาได้เป็นอย่างดี มีน้ำใต้ดินทำการเกษตรตลอดปี ด้าน ด.ต. พิทักษ์ ต่อยอด นายก อบต.บ้านผึ้ง อ. เมืองนครพนม จ. นครพนม เปิดเผยว่า ปัจจุบันปัญหาภัยแล้งถือว่า เป็นปัญหาสำคัญของชุมชน รวมถึงพี่น้องเกษตรกร ถึงแม้ จ. นครพนม จะมีพื้นที่ติดน้ำโขงรวมถึงลำน้ำสาขา แต่ปัจจุบันได้รับผลกระทบจากธรรมชาติ แม่น้ำโขงแห้งขอด ทำให้ลำน้ำสาขาขาดน้ำ ไม่สามารถทำการเกษตรได้ ช่วงฤดูแล้ง โดยเฉพาะพื้นที่นอกเขตชลประทาน รวมถึงน้ำใต้ดินบ่อบาดาลแห้ง ทาง อบต. บ้านผึ้ง จึงได้เห็นความสำคัญของทฤษฏี โครงการธนาคารน้ำใต้ดิน จึงได้ทำการศึกษานำร่องดำเนินโครงการมาต่อเนื่อง ในช่วง 1 – 2 ปี ที่ผ่านมา โดยมีการตั้งธนาคารน้ำใต้ดิน จากการพัฒนาขุดลอกแหล่งน้ำธรรมชาติหลายจุดตามชุมชนต่างๆ โดยจะใช้ทฤษฎีการผลักดันน้ำลงใต้ดิน เพื่อเชื่อมสายน้ำใต้ดินกับแหล่งน้ำ รวมถึงกดน้ำลงใต้ดินตามหลักทฤษฎี ซึ่งจะต้องมีการขุดเจาะสะดือในอ่างเก็บน้ำให้ลึกประมาณ 7 – 8 เมตร หรือผ่านชั้นดินดาน ดินตับม้าลงไป เพื่อให้น้ำสามารถผลักดันลงใต้ดินได้

สำหรับการดำเนินการ จะมีการดำเนินการเป็น 2 ระบบ คือ ระบบเปิดคือ ขุดเจาะสะดือในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ส่วนระบบที่ 2 ใช้เป็นระบบปิด คือ จะมีการขุดลอกลำคลอง หรือปรับปรุงบ่อน้ำทิ้ง ท่อระบายน้ำในชุมชน หรือในครัวเรือน จากนั้นจะมีการนำเศษหิน วัสดุเหลือใช้ หรือหินกรวด ทิ้งลงในที่ระบบระบายน้ำทิ้ง ให้เกิดโพรงระบายอากาศ และนำดิน หรือหินดินปิดหน้า เพื่อให้แน่น แต่จะมีการวางท่อระบายอากาศเป็นจุด ให้สามารถซับน้ำลงใต้ดินได้ จะสามารถช่วยเติมน้ำใต้ดิน รวมถึงแก้ปัญหาน้ำท่วมขังได้ ซึ่งในการดำเนินโครงการที่ผ่านมา จากการสำรวจพบว่า สามารถช่วยให้พื้นที่เคยขาดน้ำใต้ดิน และไม่มีน้ำขังตามอ่างน้ำ พบว่าทำให้มีน้ำในการเกษตร และใช้อุปโภคตลอดปี ตั้งเป้าจะขยายโครงการต่อเนื่องให้สามารถเติมน้ำใต้ดินได้มากที่สุด จะเป็นการแก้ปัญหาภัยแล้งถาวร

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้เพื่อปรับปรุงประสบการณ์ของคุณ เราจะถือว่าคุณรับได้กับเรื่องนี้ แต่คุณสามารถเลือกไม่รับได้หากต้องการ ยอมรับ อ่านเพิ่มเติม

Privacy & Cookies Policy