24 มกราคม 2563 กรอ. – กฟผ. เล็งตั้งโรงงานกำจัดซากแบต – โซลาร์เซลล์

ประกอบ วิวิธจินดา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เปิดเผยภายหลังลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “โครงการศึกษาการบริหารจัดการซากแผงเซลล์แสงอาทิตย์ และแบตเตอรี่ในประเทศไทย” กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ว่า ความร่วมมือในครั้งนี้เป็นการบูรณาการความร่วมมือบริหารจัดการซากแผงเซลล์แสงอาทิตย์ และแบตเตอรี่ที่เกิดจากการใช้งานในประเทศ ขณะที่ไทยยังไม่มีเทคโนโลยี และการบริหารจัดการซากดังกล่าวอย่างเป็นระบบ
ซึ่งอายุการใช้งานของแผงโซลาเซลล์เฉลี่ย 20 ปี คาดว่าปี 2565 จะมีซากจากแผงโซลาเซลล์เกิดขึ้น 112 ตัน และเพิ่มเป็น 1.55 ล้านตัน ในปี 2600 ซึ่งหากไม่วางแผนจะกระทบสิ่งแวดล้อม สุขภาพ เศรษฐกิจ และเป็นอุปสรรคต่อแผนส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ และการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศไทย
โดยปัจจุบันประเทศไทยมียอดสะสมซากแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า 5 ปี 1,300 ตัน ได้ส่งออกไปกำจัดต่างประเทศทั้งหมด เช่น ญี่ปุ่น เบลเยียม สิงคโปร์ “การกำจัดซากโซลาเซลล์และแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า นอกจากจะป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาต่อสิ่งแวดล้อม ยังคัดแยกเศษซากเหล่านี้กลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ได้อีกมาก สอดคล้องกับเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy” สำหรับพื้นที่ที่มีความเหมาะสมในการตั้งโรงงานกำจัดโซลาเซลล์ จะต้องอยู่ใกล้กับแหล่งที่มีการใช้โซลาเซลล์สูง เช่น พื้นที่โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ และพื้นที่โรงงานอุตสาหกรรมที่มีการติดตั้งโซลาเซลล์เป็นจำนวนมาก เช่น เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ซึ่งจากสำรวจพบว่า ในภาคกลางเป็นพื้นที่มีการตั้งโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์มากที่สุด 1,750 เมกะวัตต์ รองลงมาเป็นภาคเหนือ 626 เมกะวัตต์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 465 เมกะวัตต์ และภาคใต้ 41 เมกะวัตต์ รวม 2,882 เมกะวัตต์
นอกจากนี้ กรอ. ร่วมมือกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อศึกษาแผนกำจัดซากโซลาเซลล์ และแบตเตอรี่รถยนต์ทั้งระบบ ซึ่งเน้น 2 เรื่อง คือ 1. เทคโนโลยีการรีไซเคิล และการกำจัด 2. กลไกการนำซากเหล่านี้เข้าระบบ
สำหรับเทคโนโลยีการรีไซเคิล และกำจัดซาก ในขั้นแรกคือ การแยกชิ้นส่วนทางกายภาพ เช่น อลูมิเนียม กระจก ไปรีไซเคิลนำกลับมาใช้ ส่วนที่เหลือที่นำกลับมาใช้ใหม่ไม่ได้จะนำผังกลบ หรือเผา ส่วนแบตเตอรี่จะกำจัดยากกว่า เพราะมีอันตรายหากขนส่ง หรือจัดเก็บไม่ถูกต้องอาจจะระเบิด หรือเกิดสารพิษรั่วไหลได้ จึงต้องมีโรงงานกำจัดที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูง
“รายได้จากการรีไซเคิลโซลาเซลล์ และแบตเตอรี่จะมีไม่มากพอกับต้นทุนในการกำจัดทั้งหมด ดังนั้นผู้ใช้อาจจะต้องจ่ายค่ากำจัดในบางส่วนแต่ก็ไม่มากนัก จึงจะทำให้กระบวนการกำจัดอย่างถูกต้องเดินหน้าต่อไปได้”
ขณะนี้โซลาเซลล์ทั้งหมดจะอยู่ในกลุ่มโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ และโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ร้อยละ 90 ส่วนนี้กำจัดไม่ยาก เพราะต้องขึ้นทะเบียนมีระเบียบแบบแผนควบคุมที่รัดกุม ส่วนอีกร้อยละ 10 ติดบนหลังคาบ้านเรือนทั่วไป ในส่วนนี้นำเข้าระบบกำจัดยาก
แต่ทั้งนี้ร่าง พ.ร.บ. การจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ และซากผลิตภัณฑ์อื่น ที่กำลังจะออกมาจะเป็นส่วนสำคัญในการวางกรอบกติกา และมาตรการต่างๆ แผงโซลาร์เซลล์เหล่านี้เข้าระบบ” ส่วนการประเมินเบื้องต้นการลงทุนตั้งโรงงานกำจัดซากโซลาเซลล์ และแบตเตอรี่ตามแผนส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ได้ 15,574 เมกะวัตต์ คาดว่ามีโรงงานกำจัดและรีไซเคิลไม่ต่ำกว่า 100 โรง มีขนาดโรงงานขั้นต่ำ 5 ตันต่อวัน หรือ 1,480 ตันต่อปี จะใช้เงินลงทุนกว่า 100 ล้านบาท แต่หากเป็นโรงงานกำจัดแบตเตอรี่ก็จะมีมูลค่าสูงกว่านี้
พัฒนา แสงศรีโรจน์ รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ กฟผ. กล่าวว่า การผลิตไฟฟ้าจากแผงเซลล์แสงอาทิตย์ รวมถึงการใช้แบตเตอรี่ทั้งจากอุปกรณ์ไฟฟ้าและรถยนต์ไฟฟ้ามีการเติบโตอย่างรวดเร็วนั้น กระทรวงพลังงานจึงได้มีนโยบายให้ กฟผ. ศึกษาความเป็นไปได้ในการดำเนินการบริหารจัดการซากแผงเซลล์แสงอาทิตย์ และแบตเตอรี่หลังสิ้นสภาพการใช้งาน ตลอดจนเพื่อประโยชน์สูงสุดต่อการบริหารการใช้ทรัพยากรภายในประเทศตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน ด้วยการนำแผงเซลล์แสงอาทิตย์ และแบตเตอรี่ที่ใช้แล้วมาแปรรูป และนำกลับไปใช้อีกในอนาคต อันมีส่วนเสริมสร้างศักยภาพการแข่งขันด้านเศรษฐกิจของประเทศ และส่งเสริมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ซึ่ง กฟผ. ดำเนินการควบคู่กับภารกิจหลักในการรักษาความมั่นคงในระบบไฟฟ้าของประเทศ สำหรับความร่วมมือดังกล่าวมีวัตถุประสงค์ในการแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านเทคโนโลยี ข้อเสนอแนะ และแนวทางการบริหารจัดการซากแผงเซลล์แสงอาทิตย์และแบตเตอรี่ในประเทศไทย เพื่อนำมาประกอบการศึกษาความความเหมาะสมใน การพัฒนาโรงงานบริหารจัดการซากแผงเซลล์แสงอาทิตย์และแบตเตอรี่ต้นแบบ โดยมีระยะเวลา 1 ปี นับตั้งแต่วันลงนาม และมีขอบเขตความร่วมมือ ดังนี้ กรอ. จะให้การสนับสนุนด้านข้อมูล ได้แก่
1. ข้อมูลแนวโน้มซากแผงเซลล์แสงอาทิตย์และแบตเตอรี่ในไทย 2. ข้อมูลจากการพิจารณาแนวทางการเก็บรวบรวมซากแผงเซลล์แสงอาทิตย์และแบตเตอรี่จากภาคอุตสาหกรรม 3. ข้อมูลจากการศึกษาทำเลที่ตั้งที่เหมาะสมต่อการพัฒนาโรงงานบริหารจัดการซากแผงเซลล์แสงอาทิตย์และแบตเตอรี่ต้นแบบ
ส่วน กฟผ. จะรับผิดชอบ ได้แก่ 1. ศึกษาเทคโนโลยีการจัดการซากแผงเซลล์แสงอาทิตย์ที่เหมาะสม 2. ศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาโรงงานบริหารจัดการซากแผงเซลล์แสงอาทิตย์ และแบตเตอรี่ต้นแบบ ควบคู่กับการพิจารณาตามแนวทางการเก็บรวบรวมซากแผงเซลล์แสงอาทิตย์และแบตเตอรี่จากภาคอุตสาหกรรม 3. ศึกษาเทคโนโลยีและแนวทางการบริหารจัดการซากแบตเตอรี่ ที่อาจนำมาบูรณการกับโรงงานบริหารจัดการซากแผงเซลล์แสงอาทิตย์และแบตเตอรี่ต้นแบบ