19 สิงหาคม 2564 อังกฤษแบนหูฉลาม ห้ามนำเข้า ส่งออก และบริโภค

ที่มา:

https://mgronline.com/greeninnovation/detail/9640000081591

สหราชอาณาจักรเรียกร้องให้ดำเนินการในระดับสากลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการถอดครีบฉลามในทะเล และการทิ้งร่างของฉลามที่ใกล้สิ้นลมหายใจกลับลงไปในน้ำ คำสั่งห้ามนี้ ยังรวมถึงการแบนครีบฉลามที่ถูกตัดแยกออกจากตัวฉลาม และซุปหูฉลาม ลอร์ด แซ็ก โกลด์สมิธ (Lord Goldsmith) รัฐมนตรีด้านสิ่งแวดล้อมของสหราชอาณาจักรกล่าวถึงการประกาศบังคับใช้กฎหมายครั้งนี้ว่า การกระทำของรัฐบาลสหราชอาณาจักร ไม่เพียงแต่จะช่วยลดภัยคุกคาม และเพิ่มจำนวนประชากรฉลามเท่านั้น แต่ยังเป็นประกาศจุดยืนของเราว่า เราไม่สนับสนุนอุตสาหกรรมที่นำไปสู่การสูญพันธุ์ของสัตว์ทุกชนิด ในแต่ละปี มีฉลามประมาณ 73-100 ล้านตัวถูกฆ่า ไม่เพียงแต่เพื่อนำครีบของพวกมันมาทำหูฉลาม แต่ผู้ล่ายังใช้ประโยชน์จากอวัยวะส่วนอื่นของพวกมัน อาทิ เนื้อ เหงือก และน้ำมันจากตับ เพื่อตอบสนองความต้องการบริโภคในหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงทวีปยุโรป เนื่องจากการล่าหูฉลาม ทำให้ฉลามหลายสายพันธ์ตกอยู่ในสถานการณ์ที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์อย่างรวดเร็ว โดยฉลามจำนวน 143 สายพันธุ์จากมากกว่า 500 สายพันธุ์ทั่วโลก ถูกบรรจุไว้ในบัญชีสายพันธุ์ที่ถูกคุกคาม และอยู่ในสถานะมีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ (Vulnerable) ไปจนถึงสถานะเสี่ยงขั้นวิกฤตต่อการสูญพันธุ์ (Critically endangered) เมื่อเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล หรือ WWF เปิดเผยข้อมูลจากรายงาน The Shark and Ray Meat Network: a deep dive into a global affairs ซึ่งวิเคราะห์และตรวจสอบขบวนการส่งออก และนำเข้าเนื้อฉลามและกระเบนทั่วโลก ระหว่างปี พ.ศ. 2555–2562 พบเส้นทางการค้าเนื้อฉลามและกระเบนระหว่างทวีปรวมแล้วมีมูลค่าสูงถึง 2.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยหลักฐานทั้งหมดชี้ว่า การประมงทำลายล้าง เป็นภัยคุกคามเลวร้ายที่สุดที่กำลังจะทำให้ร้อยละ 36 ของสายพันธุ์ฉลาม รวมถึงกระเบนกว่า 1,200 ชนิดที่มนุษย์ค้นพบมาตั้งแต่อดีต กำลังจะสูญพันธุ์จากท้องทะเลในไม่ช้า การประกาศบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้ เป็นส่วนหนึ่งของแผนปฏิบัติการเพื่อสวัสดิภาพสัตว์ระดับชาติ ซึ่งนับเป็นก้าวสำคัญในการอนุรักษ์สัตว์ใกล้สูญพันธุ์ของประเทศมหาอำนาจ โดยก่อนหน้านี้ ในปี พ.ศ. 2562 หนึ่งในประเทศที่นำเข้าครีบฉลามมากที่สุดในโลก นอกเหนือจากทวีปเอเชีย อย่างประเทศแคนาดาออกกฎหมายห้ามนำเข้าและส่งออกครีบฉลามที่ไม่ได้ติดมากับลำตัวฉลาม และยังเป็นเป็นชาติแรกในกลุ่ม G-20 ที่ออกกฎหมายแบนหูฉลาม

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้เพื่อปรับปรุงประสบการณ์ของคุณ เราจะถือว่าคุณรับได้กับเรื่องนี้ แต่คุณสามารถเลือกไม่รับได้หากต้องการ ยอมรับ อ่านเพิ่มเติม

Privacy & Cookies Policy