แผนลดก๊าซเรือนกระจก เป้าหมายของประเทศไทย สู่ความร่วมมือประชาคมโลก

หากมาตรการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อควบคุมไม่ให้อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นเกิน 2 องศาเซลเซียสตาม “ความตกลงปารีส(Paris Agreement)”หรือความตกลงตามกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อกำหนดมาตรการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ ตามที่ได้เจรจากันในช่วงการประชุมภาคีสมาชิกของยูเอ็นเอฟซีซีซี ครั้งที่ 21 ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อปี พ.ศ. 2558 ไม่ประสบความสำเร็จ มีการคาดการณ์ว่า อุณหภูมิโลกที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จะส่งผลให้ ปัญหาสิ่งแวดล้อม ผลกระทบด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะภัยพิบัติ เกิดขึ้นกับทุกพื้นที่ทั่วโลกรุนแรงขึ้นตามไปด้วย
ตั้งแต่ปี พ.ศ.2564 เป็นต้นไป ทุกประเทศจึงตั้งเป้าหมายในการดำเนินการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามแผนงานที่แต่ละประเทศได้เสนอไว้ในการประชุมภาคีสมาชิกของยูเอ็นเอฟซีซีซี โดยข้อเสนอดังกล่าวได้ถูกกำหนดขึ้นตามกำลังความสามารถ ศักยภาพและความพร้อมของแต่ละประเทศ
ขณะที่มาตรการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย ได้มีการวางกรอบการทำงานไว้อย่างรัดกุมพร้อมกับขับเคลื่อนตามแผนที่วางไว้อย่างต่อเนื่อง ทั้งนโยบายและแผนระดับชาติ แผนระยะยาวอย่างแผนแม่บทรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. 2558 – 2593
เพื่อสร้างกลไกการทำงานและการดำเนินการอย่างรอบด้านและรัดกุม สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ได้จัดทำแผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ (National Adaptation Plan: NAP) เพื่อให้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ใช้เป็นแนวทางในการบูรณาการประเด็นด้านการปรับตัวต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเข้าสู่แผนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและเพื่อใช้เป็นกรอบในการจัดสรรงบประมาณ สร้างแนวทางการขับเคลื่อนด้านการปรับตัวของประเทศครอบคลุม ด้านการจัดการน้ำ การเกษตร และความมั่นคงทางอาหาร การท่องเที่ยว สาธารณสุข การจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และ การตั้งถิ่นฐานและความมั่นคงของมนุษย์
ขณะเดียวกัน ประเทศไทยต้องรายงานความก้าวหน้าในมาตรการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคพลังงาน ภาคกระบวนการอุตสาหกรรมและการใช้ผลิตภัณฑ์ ภาคเกษตร ภาคป่าไม้และการใช้ประโยชน์ที่ดิน และภาคของเสีย ในรายงานแห่งชาติ (National communication: NC) และรายงานความก้าวหน้ารายสองปี (Biennial update report: BUR) ต่อ สํานักเลขาธิการอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
นอกจากนี้ สผ.ในฐานะหน่วยประสานงานกลางได้ดำเนินงานตามแผนการดำเนินงานลดก๊าซเรือนกระจกที่เหมาะสมของประเทศ (Nationally Appropriate Mitigation Actions : NAMAs) โดยกำหนดว่า ต้องการลดก๊าซเรือนกระจกร้อยละ 7-20 จากกรณีปกติ และสามารถประสานความร่วมมือจากภาคส่วนต่างๆ ของประเทศ จนสามารถลดได้อย่างต่อเนื่อง โดยในปี พ.ศ. 2560 สามารถลดไปได้ประมาณ 14% และในปี พ.ศ. 2563 ได้ดำเนินการมาตรการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ภายใต้การมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (Nationally Determined Contribution: NDC) มีเป้าหมายเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 20-25 จากกรณีปกติภายในปี พ.ศ. 2573
รวมถึงได้บูรณาการมาตรการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกไว้ในนโยบายและแผนระดับชาติ ทั้งยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12
ขณะเดียวกัน ยังได้สร้างกลไกความร่วมมือในระดับพหุภาคี เช่นโครงการส่งเสริมบ้านประหยัดพลังงานและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในประเทศร่วมกับ การเคหะแห่งชาติ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และ มหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าธนบุรี เพื่อหาแนวทาง ในการพัฒนาที่อยู่อาศัย ให้มีรูปแบบ ประหยัดพลังงาน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ผ่านแนวทางต่าง ๆ เช่น การออกแบบที่อยู่อาศัยอย่างมีประสิทธิภาพ จัดทำฉลากสำหรับที่อยู่อาศัยประหยัดพลังงาน และกลไกทางการเงินสำหรับส่งเสริมที่อยู่อาศัยประหยัดพลังงาน ฯลฯ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้กับที่อยู่อาศัย โดยตั้งเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางตรงให้ได้ 429,950 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ และทางอ้อม 2,096,007 ตันคาร์บอนไดออกไซด์
จัดทำและเผยแพร่โดย
กลุ่มงานอำนวยการและประชาสัมพันธ์ / สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม