16 เมษายน 2564 นับถอยหลังสิ่งแวดล้อมโลกเหลือเพียง 3%

ที่มา : https://www.thairath.co.th/news/foreign/2069965?utm_source=PANORAMA_TOPIC
“ฟรอนเทียร์ส อิน ฟอเรสต์ แอนด์ โกลบอล เชนจ์” วารสารสิ่งแวดล้อมเผยผลการศึกษาที่มหาวิทยาลัยต่างๆ ในสหราชอาณาจักรและเครือจักรภพ จัดทำร่วมกันเมื่อ 15 เม.ย. ระบุว่าสถานการณ์สิ่งแวดล้อมโลกอยู่ในระดับน่าวิตกกังวล เนื่องจากพื้นที่บนโลกที่ระบบนิเวศยังคงอุดมสมบูรณ์ เหลืออยู่แค่เพียง 3 เปอร์เซ็นต์
ในรายงานดังกล่าวเปิดเผยว่า พื้นที่สิ่งแวดล้อมที่ยังไม่ได้รับผลกระทบจากมนุษย์ในขณะนี้ เหลืออยู่ในผืนป่าดงดิบแอมะซอนในภูมิภาคอเมริกาใต้ ป่าดงดิบคองโกในภูมิภาคแอฟริกากลาง ป่าทุนดราในไซบีเรียตะวันออกของรัสเซีย ป่าและพื้นที่ป่าทุนดราในแคนาดา และทะเลทรายซาฮาราในภูมิภาคแอฟริกาเหนือ ขณะที่สัตว์สายพันธุ์ต่างถิ่นหรือที่เรียกว่าสายพันธุ์รุกราน ก็เป็นเหตุทำให้สัตว์สายพันธุ์ท้องถิ่นได้รับผลกระทบอย่างหนัก อย่างในประเทศออสเตรเลีย ไม่เหลือระบบนิเวศที่สมบูรณ์อีกต่อไป หลังได้รับผลกระทบจากแมว สุนัขจิ้งจอก แพะ และอูฐ
ก่อนหน้านี้ มีรายงานจากองค์การสิ่งแวดล้อม ประเมินจากภาพถ่ายดาวเทียม ว่าโลกระบบนิเวศที่ยังสมบูรณ์เหลืออยู่ประมาณ 20-40 เปอร์เซ็นต์ แต่จากรายงานครั้งนี้ของกลุ่มนักวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยชั้นนำ โต้แย้งว่า ป่าดงดิบ ทุ่งซาวันนา และป่าทุนดรา ดูเหมือนจะไม่มีอะไรผิดปกติเมื่อมองจากดาวเทียม แต่ในสภาพความเป็นจริงแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นคือสัตว์ชนิดต่างๆ ที่ช่วยสร้างความสมดุลแก่ระบบนิเวศได้ลดจำนวนลงอย่างมาก เช่น ช้างที่ทำหน้าที่ช่วยถางป่า และกระจายเมล็ดพันธุ์พืชผ่านทางอุจจาระ หรือหมาป่าที่คอยช่วยจำกัดจำนวนกวางชนิดต่างๆ ไม่ให้ขยายพันธุ์จนเกิดพอดีและกินพืชพันธุ์จนหมด ไปจนถึงแมลง นก ปลา สัตว์เลื้อยคลานชนิดต่างๆ ที่ช่วยสร้างสมดุล
กระนั้นรายงานยังให้ความหวังว่า มนุษย์เราสามารถฟื้นฟูระบบนิเวศที่สมบูรณ์ให้กลับมาอยู่ในระดับ 20 เปอร์เซ็นต์ ได้ด้วยการนำสัตว์ที่สร้างสมดุลเหล่านี้ กลับคืนสู่ถิ่นหรือพื้นที่ที่ยังไม่ได้รับผลกระทบจากมนุษย์ พร้อมยกตัวอย่าง อุทยานแห่งชาติเยลโลว์สโตน ที่มีการนำหมาป่ามาปล่อย หมาป่าช่วยลดจำนวนกวาง ขณะที่กวางก็ไม่ย่างกรายมาในเขตหมาป่าอยู่อาศัย ต้นไม้ในพื้นที่เหล่านั้นก็กลับมาเติบโต ตัวบีเวอร์กลับมาใช้ต้นไม้สร้างเขื่อน เกิดลำธารใหม่ ปลา นก แมลงก็ขยายพันธุ์
ทั้งนี้ ในแวดวงวิชาการสิ่งแวดล้อมยังยอมรับกันด้วยว่า โลกกำลังอยู่ในสถานการณ์วิกฤติด้านความหลากหลายทางชีวภาพ เนื่องจากสัตว์ป่าลดจำนวนลงอย่างมากจากการรุกผืนป่าของมนุษย์ และมีนักวิทยาศาสตร์บางส่วนยอมรับด้วยว่า โลกอาจกำลังเข้าสู่ช่วงเริ่มต้นของเหตุการณ์สูญพันธุ์ครั้งใหญ่