14 ธันวาคม 2563 ใช้เปลือกส้มเป็นวัตถุดิบ รีไซเคิลพลาสติก

ที่มา:
https://www.thairath.co.th/news/foreign/1993981
ในอนาคตอันใกล้เราอาจซื้อน้ำส้มในขวดที่ทำจากเปลือกส้มก็เป็นได้ หลังจากเมื่อเร็วๆ นี้หน่วยงานวิจัยของประเทศฟินแลนด์คือ VTT Technical Research Centre of Finland รายงานการคิดค้นเทคโนโลยีใหม่นำเสนอแนวทางการเปลี่ยนพลาสติกชีวภาพที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลมาเป็นพลาสติกชีวภาพที่หมุนเวียนได้ ที่น่าสนใจคือ เทคนิคนี้สามารถใช้วัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรที่มีเพคติน (pectin) ซึ่งเป็นโพลีเมอร์ชีวภาพ เช่น เปลือกส้ม และกากหัวผักกาดหวานมาเป็นวัสดุตั้งต้นในกระบวนการผลิต PEF (polyethylene furanoate) ให้ทดแทนการใช้พลาสติกประเภทคืนรูปอย่าง PET (polyethylene terephthalate) ที่ทำจากเชื้อเพลิงฟอสซิล ซึ่งปัจจุบันพลาสติก PET และโพลีเอสเทอร์อื่นๆ ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายในบรรจุภัณฑ์อาหาร ขวดพลาสติก และสิ่งทอ โดยจำนวนการผลิตผลิตภัณฑ์ที่เป็น PET อยู่ที่ประมาณ ๓๐,๐๐๐ ล้านกิโลกรัมต่อปี ดังนั้นการเปลี่ยนมาใช้โพลีเมอร์ PEF ที่ได้จากพืช แทน PET ที่ได้จากเชื้อเพลิงฟอสซิลจะสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของผลิตภัณฑ์ได้ถึงร้อยละ ๕๐ ยิ่งไปกว่านั้นคุณสมบัติการกั้นของพลาสติก PEF ยังดีกว่า PET นั่นหมายความว่า ผลิตภัณฑ์อาหารจะมีอายุการเก็บรักษาที่ยาวนานขึ้น ทั้งนี้ PEF ถือเป็นพลาสติกประสิทธิภาพสูงที่นำมารีไซเคิลได้อย่างเต็มที่ และนำกลับมาใช้ใหม่ได้ จึงเปิดโอกาสให้อุตสาหกรรมต่างๆ สามารถลดขยะและส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อม