15 ตุลาคม 2563 ทีมนักวิจัยไทยค้นพบปลาปอดชนิดใหม่ของโลก

ที่มา: https://www.thairath.co.th/news/local/northeast/1953440
จากการสำรวจขุดค้นซากดึกดำบรรพ์ปลาปอด ณ แหล่งซากดึกดำบรรพ์ภูน้อย อ. คำม่วง จ. กาฬสินธุ์ โดยทีมนักวิจัยจากพิพิธภัณฑ์สิรินธร กรมทรัพยากรธรณี ร่วมกับศูนย์วิจัยและการศึกษาบรรพชีวินวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ประกอบด้วยชิ้นส่วนกะโหลก และแผ่นฟัน คาดว่าเป็นชิ้นส่วนจากปลาตัวเดียวกัน หลังจากการศึกษาวิจัยซึ่งนำโดยผู้เชี่ยวชาญเรื่องซากดึกดำบรรพ์ปลาพบว่า รูปสัณฐานของส่วนกะโหลกและแผ่นฟันปลาปอดที่พบที่ภูน้อย จัดอยู่ในสกุลเฟอกาโนเซอราโตดัส แต่มีความแตกต่างจากชนิดอื่น เป็นปลาปอดชนิดใหม่ของโลก ชื่อ เฟอร์กาโนเซอราโตดัส แอนเคมเป (Ferganoceratodus annekempae) ปลาปอดเป็นปลาโบราณ เนื่องจากพบตั้งแต่ในยุคดีโวเนียน และยังคงพบในปัจจุบัน ลักษณะของปลาปอดคือ สามารถหายใจด้วยปอดร่วมกับการหายใจด้วยเหงือก ครีบอกและครีบท้องมีลักษณะเป็นเนื้อหุ้ม ลำตัวปกคลุมด้วยเกล็ดแบบคอสมอยด์ ฟันมีลักษณะเป็นแผ่นฟัน ซากดึกดำบรรพ์ปลาปอดสกุลเฟอร์กาโนเซอราโตดัส เป็นซากดึกดำบรรพ์ที่หายากโดยเฉพาะส่วนกะโหลก โดยสกุลนี้มีการพบในประเทศจีน ประเทศรัสเซีย และประเทศไทยเท่านั้น ดังนั้นการค้นพบปลาปอด “เฟอร์กาโนเซอราโตดัส แอนเคมเป” ณ แหล่งซากดึกดำบรรพ์ ภูน้อย อ. คำม่วง จ. กาฬสินธุ์ มีความสำคัญในการศึกษาวิวัฒนาการและถิ่นอาศัยในอดีตของปลาปอดของโลก
แหล่งซากดึกดำบรรพ์ภูน้อยอยู่ในพื้นที่ ต. ดินจี่ อ. คำม่วง จ. กาฬสินธุ์ อยู่ในหมวดหินภูกระดึง กลุ่มหินโคราช ยุคจูแรสซิกตอนปลาย มีอายุประมาณ ๑๕๐ ล้านปี เป็นแหล่งซากดึกดำบรรพ์ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงมาก และเป็นแหล่งที่มีการค้นพบซากดึกดำบรรพ์สัตว์มีกระดูกสันหลังมากที่สุดในประเทศไทยใน ปัจจุบันกรมทรัพยากรธรณีประกาศให้พื้นที่ภูน้อยเป็นแหล่งซากดึกดำบรรพ์ขึ้นทะเบียนของประเทศไทย ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองซากดึกดำบรรพ์ พ.ศ. ๒๕๕๑