6 กันยายน 2563 หนึ่งเดียวในโลก! “กิ้งกือมังกรสีชมพู” อวดโฉมแปลกตาปีละครั้งที่ “หุบป่าตาด” อุทัยธานี

ที่มา : https://mgronline.com/travel/detail/9630000091109

กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช” เผยภาพตัวเป็นๆ ของ “กิ้งกือมังกรสีชมพู” สัตว์สายพันธุ์หายากพบหนึ่งเดียวในโลกที่เมืองไทย ที่กำลังเดินอวดโฉมความงามที่ “หุบป่าตาด” แหล่งท่องเที่ยวอันซีนไทยแลนด์เลื่องชื่อของ จ.อุทัยธานี

“กิ้งกือมังกรสีชมพู” สิ่งมีชีวิตมหัศจรรย์ ที่ถูกการันตีด้วยการประกาศให้เป็นสุดยอดการค้นพบสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ในอันดับที่ 3 ของโลก จากมหาวิทยาลัยรัฐแอริโซนา สหรัฐอเมริกา สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยในด้านความสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติเป็นอย่างมาก

ที่ได้ชื่อว่า “กิ้งกือมังกรสีชมพู” นั้น เพราะอยู่ในวงศ์กิ้งกือมังกร (พาราดอกโอโซมาติเดีย) บวกกับสีชมพูสดใส และยังมีลักษณะเด่นด้วยลวดลายและปุ่มหนาคล้ายมังกร เมื่อโตเต็มวัยจะมีลำตัวยาว 7 ซม. มี 20 – 40 ปล้อง ที่สำคัญและต้องระวังสำหรับนักท่องเที่ยวคือ สามารถขับสารพิษประเภทไซยาไนด์ เพื่อป้องกันตัวได้อีกด้วย

สำหรับ “กิ้งกือมังกรสีชมพู” (Shocking pink millipede) เจ้าสัตว์ประหลาดหนึ่งเดียวในโลกที่พบแห่งแรกที่หุบป่าตาดแห่งนี้ ถูกค้นพบโดยสมาชิกในชมรมคนรักกิ้งกือ เมื่อเดือนพฤษภาคม 2550 พบครั้งแรกที่หุบป่าตาด เขตห้ามล่าสัตว์ป่าถ้ำประทุน จังหวัดอุทัยธานี

เดิมกิ้งกือมังกรสีชมพูพบในประเทศไทยเพียงแห่งเดียวในโลกที่หุบป่าตาดเท่านั้น แต่ล่าสุดมีรายงานว่าพบเจ้ากิ้งกือมังกรสีชมพูที่ผืนป่าในจังหวัดกำแพงเพชรด้วย

หลังการค้นพบ ดร.สมศักดิ์ ปัญหา ได้นำมาศึกษาภายใต้โครงการวิจัยกิ้งกือและไส้เดือนดิน และร่วมกับ ศ.เฮนริค อิงฮอฟ ผู้เชี่ยวชาญด้านกิ้งกือชนิดใหม่ของโลก และให้ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Desmoxytes purpurosea และได้ตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารนานาชาติ ซูแทกซา (Zootaxa) ตั้งแต่ปี 2550

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้เพื่อปรับปรุงประสบการณ์ของคุณ เราจะถือว่าคุณรับได้กับเรื่องนี้ แต่คุณสามารถเลือกไม่รับได้หากต้องการ ยอมรับ อ่านเพิ่มเติม

Privacy & Cookies Policy