การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

  • ความสําคัญของความตกลงปารีส มีเป้าหมายในการเสริมสร้างความรับผิดชอบร่วมกันต่อภัยคุกคามจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยมุ่งหวังที่จะควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกให้ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส และพยายามไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส เพื่อเสริมสร้างการดำเนินงานและวัตถุประสงค์ของอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
  • การดำเนินงานด้านเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย มีการบูรณาการประเด็นด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเข้าสู่นโยบายและแผนระดับชาติ รวมทั้งมีแผนแม่บทรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. 2558 – 2593 นำไปสู่การสร้างกลไกและเครื่องมือในการรับมือและแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีประสิทธิภาพ ประกอบด้วย แนวทางดำเนินการ 3 เรื่องหลัก ได้แก่
    1) การปรับตัวต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 2) การลดก๊าซเรือนกระจกและส่งเสริมการเติบโตที่ปล่อยคาร์บอนต่ำ และ 3) การสร้างขีดความสามารถด้านการบริหารจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
  • ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความเปราะบาง ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งการอุณหภูมิที่เพิ่มสูง น้ำท่วม น้ำแล้ง การกัดเซาะชายฝั่ง และภัยธรรมชาติต่างๆ สผ. จึงได้จัดทำแผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ (National Adaptation Plan: NAP) เพื่อให้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ใช้เป็นแนวทางในการบูรณาการประเด็นด้านการปรับตัวต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเข้าสู่แผนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและเพื่อใช้เป็นกรอบในการจัดสรรงบประมาณ เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนด้านการปรับตัวของประเทศอย่างบูรณาการและเป็นรูปธรรม โดยมีเนื้อหาครอบคลุม 6 สาขาสำคัญ ได้แก่ 1) การจัดการน้ำ 2) การเกษตรและความมั่นคงทางอาหาร 3) การท่องเที่ยว 4) สาธารณสุข 5) การจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และ 6) การตั้งถิ่นฐานและความมั่นคงของมนุษย์
  • ประเทศไทยมีพันธกรณีในการจัดทําบัญชีก๊าซเรือนกระจกใน 5 ภาคส่วน ได้แก่ ภาคพลังงาน ภาคกระบวนการอุตสาหกรรมและการใช้ผลิตภัณฑ์ ภาคเกษตร ภาคป่าไม้และการใช้ประโยชน์ที่ดิน และภาคของเสีย เพื่อประกอบ ในรายงานแห่งชาติ (National communication: NC) และรายงานความก้าวหน้ารายสองปี (Biennial update report: BUR) เพื่อเสนอต่อสํานักเลขาธิการอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
  • สผ.ในฐานะหน่วยประสานงานกลางได้ดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย ดังนี้
    1) การเข้าร่วมเป็นภาคีความตกลงปารีส ประเทศไทยได้ให้สัตยาบันเข้าร่วมเป็นภาคีความตกลงปารีส ในวาระที่นายกรัฐมนตรี (พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา) ได้เดินทางเข้าร่วมการประชุมสมัชชาสหประชาชาติสมัยสามัญ ครั้งที่ 71 ณ สํานักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 19 – 25 กันยายน พ.ศ. 2559
    2) การดำเนินงานเพื่อบรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ แบ่งเป็น 2 ระยะ ได้แก่
    2.1) ระยะก่อนปี พ.ศ. ๒๕๖๓ ซึ่งดำเนินการตามแผนการดำเนินงานลดก๊าซเรือนกระจกที่เหมาะสมของประเทศ (Nationally Appropriate Mitigation Actions : NAMAs) โดยต้องการลดก๊าซเรือนกระจกร้อยละ 7-20 จากกรณีปกติ ภายในปี พ.ศ. 2563 จากสาขาพลังงานและขนส่ง ซึ่งจากผลการลดก๊าซเรือนกระจกในปี พ.ศ. 2560 พบว่าประเทศไทยสามารถลดไปได้แล้วราว 14% ซึ่งก้าวหน้าอย่างต่อเนื่องจากปี พ.ศ. 2559 ที่ลดได้ประมาณ 12%
    2.2) ระยะภายหลังปี พ.ศ. 2563 ซึ่งดำเนินการภายใต้การมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (Nationally Determined Contribution: NDC) โดยกำหนดเป้าหมายที่ร้อยละ 20-25 จากกรณีปกติภายในปี พ.ศ. ๒๕๗๓ จากสาขาพลังงานและขนส่ง กระบวนการทางอุตสาหกรรมและการใช้ผลิตภัณฑ์ และการจัดการของเสีย และอยู่ระหว่างดำเนินการจัดทำ NDC ฉบับปรับปรุง (Updated NDC) ของประเทศไทย เพื่อศึกษา วิเคราะห์ รวบรวมข้อมูลและยกร่าง NDC ฉบับปรับปรุง ให้สอดคล้องกับแนวปฏิบัติของความตกลงปารีส

3) การจัดทำ NDC ฉบับปรับปรุง (Updated NDC) ของประเทศไทย สผ. อยู่ระหว่างดำเนินการจัดทำ NDC ฉบับปรับปรุงโดยมีการแต่งตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อจัดทำ NDC ฉบับปรับปรุง (Updated NDC) ของประเทศไทย เพื่อศึกษา วิเคราะห์ รวบรวมข้อมูลและยกร่าง NDC ฉบับปรับปรุง ให้สอดคล้องกับแนวปฏิบัติของความตกลงปารีส (Paris Agreement Work Programme: PAWP) นโยบายที่เกี่ยวข้อง และคำนึงถึงบริบทของประเทศ โดยได้มีการจัดประชุมคณะทำงานฯ แล้ว จำนวน 2 ครั้ง เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2562 และวันที่ 8 พฤศจิกายน 2562 เพื่อหารือและแลกเปลี่ยนความเห็นต่อประเด็นที่ต้องปรับปรุงใน NDC ฉบับปรับปรุง รวมทั้งพิจารณา (ร่าง) NDC ฉบับปรับปรุง (Updated NDC) ของประเทศไทย ก่อนเสนอต่อคณะทำงานเจรจาสำหรับการประชุมอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ คณะอนุกรรมการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้านการประสานท่าทีเจรจาและความร่วมมือระหว่างประเทศ และคณะกรรมการนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติเพื่อพิจารณา ก่อนเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบตามขั้นตอน ก่อนจัดส่งไปยัง UNFCCC โดยคาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2563

4) การเข้าร่วม NDC Partnership ของประเทศไทย
สผ.และ สศช. ทำหน้าที่เป็นหน่วยประสานงานหลัก (Focal Point) ของประเทศร่วมกันในการแสดงเจตจำนงเข้าร่วมเป็นสมาชิก NDC Partnership ขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนการนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อร่างหนังสือแสดงความจำนงอย่างเป็นทางการเพื่อเข้าร่วม NDC Partnership ก่อนการแสดงเจตจำนงอย่างเป็นทางการเพื่อเข้าร่วม NDC Partnership ต่อไป

5) การขับเคลื่อนนโยบายและแผนด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไปสู่การปฏิบัติ
5.1) สผ.ได้บูรณาการประเด็นด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเข้าสู่นโยบายและแผนระดับชาติ ได้แก่ ยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 และได้จัดทำแผนแม่บทรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. ๒๕๕๘-๒๕๙๓ แผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ (National Adaptation Plan: NAP)
5.2) สผ. อยู่ระหว่างดำเนินการขับเคลื่อนนโยบายสู่การปฏิบัติในพื้นที่นำร่อง 4 พื้นที่ ได้แก่ จังหวัดเชียงราย จังหวัดอุดรธานี กลุ่มจังหวัดลุ่มน้ำเจ้าพระยา และกลุ่มจังหวัดชายฝั่งทะเลอันดามัน และ การบูรณาการประเด็นด้านการปรับตัวฯ ในการวางนโยบายและแผนรายสาขา ใน 3 สาขานำร่อง ได้แก่ สาขาสาธารณสุขร่วมกับกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข สาขาการตั้งถิ่นฐานและความมั่นคงของมนุษย์ร่วมกับกรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย และสาขาการท่องเที่ยวร่วมกับกรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
5.3) ในปี พ.ศ. 2557 – 2560 สผ.และองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ร่วมกันจัดฝึกอบรมการจัดทำแผนปฏิบัติการรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ/การบูรณาการประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเข้าสู่กระบวนการจัดทำแผนในระดับจังหวัด/แผนพัฒนาในระดับท้องถิ่น ให้กับบุคลากรในพื้นที่นำร่อง (สสภ./ทสจ./เทศบาล) โดยคำนึงถึงการเชื่อมโยงกับบริบทของแต่ละพื้นที่ใน 17 จังหวัด 32 เทศบาล ส่วนโครงการในระยะที่ 2 พ.ศ. 2561 – 2564 จะขยายพื้นที่ดำเนินงานในอีก 60 จังหวัด

6) การสื่อสารการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทยไปสู่ระดับนานาชาติ
ประเทศไทยในฐานะประเทศภาคีสมาชิกนอกภาคผนวกที่ 1 (Non-Annex I) ของอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) ได้ดำเนินการจัดส่งรายงานแห่งชาติ (National communication: NC) แล้ว 3 ฉบับ และรายงานความก้าวหน้ารายสองปี ฉบับที่ 2 (Second Biennial Update Report: SBUR) ต่อสำนักเลขาธิการอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

7) ระบบสารสนเทศการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย (Thailand Greenhouse Gas Emissions Inventory System: TGEIS) สผ. โดยการสนับสนุนของรัฐบาลออสเตรเลียได้พัฒนาระบบสารสนเทศการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย เพื่อยกระดับการจัดทำบัญชีก๊าซเรือนกระจกโดยใช้วิธีการคำนวณตามคู่มือ IPCC 2006 ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการนำเข้าข้อมูลกิจกรรมสำหรับสาขาที่มีการพัฒนาเรียบร้อยแล้ว และพัฒนาวิธีการจัดเก็บข้อมูลของประเทศไทย ได้แก่ สาขากระบวนการผลิตอุตสาหกรรมในด้าน F-gas สาขาการใช้ประโยชน์ที่ดิน และสาขาอื่นๆ ที่สำคัญ รวมทั้งออกแบบการรายงานข้อมูลตามแบบฟอร์มของ UNFCCC

8) การดำเนินงานเพื่อรองรับการดำเนินงานด้านความโปร่งใส (Transparency) ภายใต้กรอบความตกลงปารีส สผ. ร่วมกับ GIZ ดำเนินงานร่วมกันภายใต้แผนงานความร่วมมือด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไทย-เยอรมัน (Thai – German Climate Programme: TGCP) ด้านระบบการตรวจวัด รายงาน และทวนสอบ สำหรับการจัดทำบัญชีก๊าซเรือนกระจก และการรายงานในระดับสากล โดยดำเนินโครงการ “การเสริมสร้างศักยภาพกระบวนการตรวจวัด รายงาน และทวนสอบของประเทศไทย” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างศักยภาพกระบวนการตรวจวัด รายงาน และทวนสอบ (Measurement, Reporting, and Verification: MRV) ในการจัดทำบัญชีก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทยเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานด้านความโปร่งใสภายใต้กรอบความตกลงปารีส รวมทั้งเป็นการสนับสนุนการดำเนินการด้านการจัดทำรายงานความโปร่งใสรายสองปี (Biennial Transparency Report: BTR) ที่ประเทศภาคีซึ่งรวมถึงประเทศไทยจะเริ่มจัดส่งฉบับแรกในปี พ.ศ. 2567 (ค.ศ. 2024) โดยดำเนินการวิเคราะห์ช่องว่างของข้อมูลด้านการจัดทำบัญชีก๊าซเรือนกระจกที่ประเทศไทยมีการดำเนินการในปัจจุบัน พร้อมทั้งข้อเสนอแนะแนวทางในการดำเนินการเพื่อปิดช่องว่าง นอกจากนี้ ได้เสนอแนะแนวทางการการจัดทำแผนการประกันและการควบคุมคุณภาพ (QA/QC Plan) รวมทั้งพัฒนาแบบฟอร์มการควบคุมคุณภาพ (QC Template) ข้อมูลกิจกรรมสำหรับการจัดทำบัญชีก๊าซเรือนกระจก สำหรับหน่วยงานหลักทั้ง 5 ภาคส่วน ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพัฒนาแบบฟอร์มการควบคุมคุณภาพ (QC Template) ให้ครอบคลุมทั้ง 5 ภาคส่วน พัฒนาแบบฟอร์มสำหรับตรวจสอบความต้องการในการจัดทำรายงานตามกรอบการดำเนินงานด้านความโปร่งใส ปรับปรุงแผนการดำเนินงานเพื่อรองรับความต้องการสำหรับการดำเนินงานตามกรอบการดำเนินงานด้านความโปร่งใส

9) การขับเคลื่อนกลไกการดำเนินงานด้านการเงิน
9.1) สผ.เป็นหน่วยประสานงานหลัก (National Designated Authority: NDA) ของกองทุนภูมิอากาศสีเขียว (Green Climate Fund: GCF) ซึ่งได้ขอรับเงินสนับสนุนจากกองทุนเพื่อเตรียมความพร้อมให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholder) ในประเทศไทยประกอบด้วย หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคธุรกิจ และภาคสถาบันการเงินการธนาคาร เป็นเงิน 43 ล้านบาท เพื่อดำเนินโครงการเตรียมความพร้อมจำนวน 3 โครงการ ได้แก่ โครงการเตรียมความพร้อมระยะที่ 1 (พ.ศ. 2559 – 2561) จำนวนเงินประมาณ 9 ล้านบาท ส่วนโครงการระยะที่ 2 แบ่งออกเป็น 2 โครงการ ได้แก่ การดำเนินงานร่วมกับ GIZ ในระหว่างปี พ.ศ. 2561 – 2563 จำนวนเงินประมาณ 22 ล้านบาท และการดำเนินงานร่วมกับสถาบัน Global Green Growth Institute (GGGI) ในระหว่างปี พ.ศ. 2561 – 2562 จำนวนเงินประมาณ 9 ล้านบาท
9.2) ความร่วมมือแบบทวิภาคีระหว่างไทย-เยอรมัน (International Climate Initiative: IKI) โดยรัฐบาลเยอรมันได้อนุมัติงบประมาณสนับสนุนให้แก่รัฐบาลไทย สำหรับดำเนินงานในแผนงานความร่วมมือด้านนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ไทย-เยอรมัน (Thai – German Climate Change Policy Programme: TGCP) จำนวนเงินประมาณ 692 ล้านบาท
9.3) โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานและการลดก๊าซเรือนกระจกที่เหมาะสมของประเทศ ในอุตสาหกรรมปรับอากาศและทำความเย็น (Thai RAC NAMA) จำนวนเงินประมาณ 568 ล้านบาท
9.4) โครงการศึกษาการลดก๊าซเรือนกระจกในนาข้าวของประเทศไทย (Thai Rice NAMA) จำนวนเงินประมาณ 600 ล้านบาท

สถานภาพปัจจุบันของพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ
แผนการดำเนินงานเพื่อจัดทำพระราชบัญญัติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. …. ซึ่งมีความสอดคล้องกับพันธกรณีระหว่างประเทศ ตลอดจนสนับสนุนให้เกิดการบูรณาการตามแผนปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง สิ่งแวดล้อม ประเด็นปฏิรูปที่ 3 ผลักดันทุกภาคส่วนให้ร่วมแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งได้กำหนดให้มีการออกประกาศ พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ให้แล้วเสร็จภายใน ปี พ.ศ. 2563 โดยจะเป็นกลไกสนับสนุนทั้งในด้านการบริหารราชการ การลดก๊าซเรือนกระจก การปรับตัวต่อผลกระทบ รวมทั้งการส่งเสริมให้ภาคเอกชนได้มีส่วนร่วมในการใช้เป็นเครื่องมือทางด้านเศรษฐศาสตร์ในการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระดับประเทศในระยะยาว โดยกฎหมายดังกล่าว จะเป็นเครื่องมือที่จะบูรณาการการทำงานของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน จึงต้องการสร้างกลไกทางกฎหมายขึ้นเพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทยอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งจะทำให้การแก้ไขปัญหาโลกร้อนมีอำนาจเชิงการบริหารที่เชื่อมโยงได้ทุกภาคส่วน

ภายใต้กฎหมายจะมีการบรรจุตั้งแต่เรื่องของคณะกรรมการนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ รวมถึงการรายงานข้อมูลการจัดทำบัญชีก๊าซเรือนกระจก และผลการลดก๊าซเรือนกระจกที่อาจมีผลผูกพันกับทั้งภาครัฐและเอกชน ตลอดจนเรื่องของการปรับตัวต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่จะให้หน่วยงานต่างๆ นำปัจจัยความเสี่ยงของ climate change เข้าไปผนวกในการทำแผนหรือโครงการ นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของกลไกกองทุนหรือกลไกทางการเงินอื่นๆ เช่น ภาษี หรือตลาดคาร์บอนที่จะถูกนำขึ้นมาใช้พร้อมกับอนุบัญญัติต่างๆ

ปัจจุบันอยู่ในระหว่างการรวบรวมข้อมูลเบื้องต้น เพื่อประกอบการพิจารณาจัดทำ (ร่าง) พระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ พ.ศ. … ฉบับแรกประกอบด้วย โครงสร้างเชิงสถาบัน การลดก๊าซเรือนกระจก การปรับตัวต่อผลกระทบ และแรงจูงใจ/เครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์ และในปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๓ จะดำเนินโครงการรับฟังความคิดเห็นต่อ ร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวทั่วประเทศ ซึ่งต้องใช้เวลาในการศึกษา เนื่องจาก climate change ไม่ใช่ปัญหาที่เกิดขึ้นในเฉียบพลัน แต่เป็นสิ่งที่ต้องการการแก้ไขในระยะยาว ดังนั้น รูปแบบวิธีการภายใต้กฎหมายต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ ซึ่งถือว่าเป็นเครื่องมือสำคัญ และทำให้ไทยเป็นประเทศแรกๆ ที่จะมีกฎหมายเฉพาะเพื่อใช้ในการขับเคลื่อนประเด็นดังกล่าว

กองประสานการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้เพื่อปรับปรุงประสบการณ์ของคุณ เราจะถือว่าคุณรับได้กับเรื่องนี้ แต่คุณสามารถเลือกไม่รับได้หากต้องการ ยอมรับ อ่านเพิ่มเติม

Privacy & Cookies Policy