สผ. ตอกย้ำ! เข้าร่วม สวทช. ผนึกพันธมิตร 10 หน่วยงาน พัฒนา “ฐานข้อมูลและตัวชี้วัด” หนุนเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ นำไทยสู่ Net Zero แข่งขันเวทีโลก
วันนี้ (17 กรกฎาคม 2568) สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ. เข้าร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการพัฒนาฐานข้อมูลและตัวชี้วัดเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจการ์บอนต่ำ ณ ห้องแถลงข่าว ชั้น 1 อาคารพระจอมเกล้า กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ถนนพระราม 6 กรุงเทพฯ โดย ดร. ชญานันท์ ภักดีจิตต์ เลขาธิการ สผ. ร่วมกับ ผู้บริหารจาก 9 หน่วยงาน ประกอบด้วย ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) รองศาสตราจารย์ วงกต วงศ์อภัย รองผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) นางสาววรรณภา คล้ายสวน ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์การพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) นายภุชพงค์ โนดไธสง ผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม (สส.) นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.)นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) (อบก.) นายกิตติพงศ์ ลิ่มสุวรรณโรจน์ กรรมการบริหารสถาบันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และ ดร.วิจารย์ สมาฉายา ผู้อำนวยการมูลนิธิสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (มสท.)
การลงนามความร่วมมือในวันนี้เป็นส่วนสำคัญในการดำเนินความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐและภาคีเครือข่ายต่าง ๆ ส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ฐานข้อมูลและตัวชี้วัดด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศ ตลอดจนร่วมผลักดันโจทย์วิจัยที่เกี่ยวข้องและร่วมแลกเปลี่ยนความเห็นของสมาชิกเครือข่ายฯเพื่อให้สามารถผลักดันให้ประเทศไทยมีโครงสร้างพื้นฐานที่มีมาตรฐานระดับสากล พร้อมก้าวไปสู่ป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ และตอบโจทย์ความต้องการของประเทศได้อย่างแท้จริง ทั้งนี้ เลขาธิการ สผ. ได้แสดงบทบาทของ สผ. ในฐานะหน่วยงานที่มีภารกิจในการจัดทำนโยบาย แผน มาตรการ กลไก รวมถึงการขับเคลื่อนไปสู่การปฏิบัติบนพื้นฐานบูรณาการข้อมูลด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมการขับเคลื่อนประสานงานร่วมกับภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน ภายใต้ความสอดคล้องกับหมุดหมายที่ 10 ของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 ไทยมีเศรษฐกิจหมุนเวียนและสังคมคาร์บอนต่ำ และ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนที่ 12 การผลิตการบริโภคที่ยั่งยืน จึงได้เล็งเห็นว่าหัวใจสำคัญของการขับเคลื่อนนโยบายและการตัดสินใจเชิงนโยบาย คือ “ข้อมูล” และ “ตัวชี้วัด” ที่ถูกต้อง ครบถ้วน และเชื่อถือได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศท่ามกลางกระแสแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของโลก ดังนั้น ความร่วมมือในวันนี้ถือเป็นการวางรากฐานเพื่อการขับเคลื่อนประเทศที่สอดรับทั้งแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและเป้าหมายสากลให้เป็นหนึ่งเดียวกัน
จัดทำและเผยแพร่โดย กลุ่มงานอำนวยการและประชาสัมพันธ์
สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.)