22 มีนาคม 2568 ค้นพบวิธีช่วยสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ จากดีเอ็นเอในมูลสัตว์

กุญแจสู่การอนุรักษ์? นักวิจัยอังกฤษพบวิธีช่วยชีวิตสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ จากดีเอ็นเอในมูลสัตว์ โดยไม่ต้องจับหรือรบกวนสัตว์ในถิ่นอาศัยตามธรรมชาติ

เซลล์บางส่วนภายในมูลสัตว์ที่ยังมีชีวิตอยู่อาจนำมาใช้เพิ่มความหลากหลายทางพันธุกรรมของสัตว์บางสายพันธุ์ได้

การเปลี่ยนมูลสัตว์ให้กลายเป็นลูกสัตว์ตัวน้อย ๆ อาจฟังดูเหมือนมายากลของเจ้าหน้าที่สวนสัตว์ แต่สิ่งนี้อาจกลายเป็นจริงได้ หากทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดของอังกฤษประสบความสำเร็จในโครงการใหม่เพื่อช่วยปกป้องสัตว์ใกล้สูญพันธุ์จากการสูญพันธุ์ ตั้งแต่เสือดาวหิมะไปจนถึงเต่าทะเล สัตว์ทั่วโลกกำลังตกอยู่ในอันตราย ทำให้นักวิทยาศาสตร์บางคนถึงกับเรียกการสูญเสียสัตว์ป่าจำนวนมหาศาลในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมาว่าเป็น “การทำลายล้างทางชีวภาพ” เพื่อป้องกันการสูญพันธุ์ ขณะนี้นักวิจัยกำลังศึกษาหาวิธีว่าจะสามารถใช้มูลสัตว์ในการรวบรวมและใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางพันธุกรรมของสัตว์ได้หรือไม่

โครงการนี้ได้รับการขนานนามว่า “สวนสัตว์มูล” (The Poo Zoo) โดยมีพื้นฐานมาหลักการง่าย ๆ ว่า นอกจากมูลสัตว์จะอุดมไปด้วยอาหารที่ย่อยไม่หมด แบคทีเรียและน้ำดีแล้ว มูลยังมีเซลล์จากสัตว์ที่ขับถ่ายออกมา ซึ่งหลุดออกมาจากเยื่อบุลำไส้ด้วย

ที่สำคัญ งานวิจัยยังเสนอแนะว่า เซลล์บางส่วนในมูลยังมีชีวิตอยู่ อย่างน้อยก็ในขณะที่มูลนั้น
ยังสดใหม่

อย่างไรก็ตาม ศาสตราจารย์ซูซานนาห์ วิลเลียมส์ (Prof Suzannah Williams) จากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดในอังกฤษ ซึ่งเป็นผู้นำทีมวิจัย ระบุว่า “งานวิจัยยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นแต่เป็นไปในทิศทางบวกมาก พร้อมเสริมว่า ทีมวิจัยสามารถแยกเซลล์ที่มีชีวิตออกจากมูลของหนูและช้างได้สำเร็จแล้ว

ความหวังคือการนำเซลล์เหล่านี้มาใช้ช่วยเพิ่มความหลากหลายทางพันธุกรรมในประชากรสัตว์ ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสในการอยู่รอดของสิ่งมีชีวิตชนิดต่าง ๆ แนวทางที่เรียกว่า “การกอบกู้พันธุกรรม” (Genetic Rescue) สามารถทำได้หลายวิธี วิธีแรกคือการวิเคราะห์ดีเอ็นเอจากเซลล์เพื่อช่วยให้นักวิทยาศาสตร์เข้าใจถึงความหลากหลายทางพันธุกรรมของประชากรสัตว์ต่าง ๆ ซึ่งจะช่วยชี้แนะแนวทางการอนุรักษ์ของสายพันธุ์ที่แตกต่างกัน และดีเอ็นเอที่ได้จะมีคุณภาพสูงขึ้นหากสกัดมาจากเซลล์ที่ยังมีชีวิตอยู่ แต่หากเซลล์จากมูลสัตว์สามารถเพาะเลี้ยงและเจริญเติบโตได้ ก็จะเพิ่มความเป็นไปได้อีกทางหนึ่ง นั่นคือการสร้างสัตว์ทั้งตัวโดยใช้เทคโนโลยีช่วยการสืบพันธุ์ที่ล้ำสมัย โดยหนึ่งในวิธีเหล่านี้คือการโคลนนิ่ง ซึ่งเป็นกระบวนการนำนิวเคลียสของเซลล์ใส่เข้าไปในไข่ที่ได้รับบริจาค จากนั้นจึงใช้กระแสไฟฟ้ากระตุ้นและฝังตัวอ่อนที่ได้ลงในตัวแทนแม่อุ้มบุญเพื่อให้กำเนิดสัตว์ที่มีพันธุกรรมเหมือนต้นแบบ

สิ่งที่น่าตื่นเต้นยิ่งกว่านั้นคือความเป็นไปได้ในการโปรแกรมเซลล์ใหม่เพื่อให้เซลล์มีศักยภาพในการกลายมาเป็นเซลล์ชนิดใดก็ได้ โดยงานวิจัยในหนูพบว่าเซลล์ดังกล่าวสามารถเปลี่ยนเป็นเซลล์สืบพันธุ์
อย่าง อสุจิและไข่ ได้ ซึ่งหมายความว่าอาจนำเซลล์เหล่านี้ไปใช้ในเทคนิคคล้ายการปฏิสนธินอกร่างกาย (IVF) เพื่อให้กำเนิดลูกสัตว์ต่อไปได้

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้เพื่อปรับปรุงประสบการณ์ของคุณ เราจะถือว่าคุณรับได้กับเรื่องนี้ แต่คุณสามารถเลือกไม่รับได้หากต้องการ ยอมรับ อ่านเพิ่มเติม

Privacy & Cookies Policy