9 พฤษภาคม 2563 “อ.ธรณ์” ชี้ลอบจับปลา “เกาะเต่า” โทษหนัก! ปรับสูงสุด 30 ล้านบาท

ที่มา : https://www.dailynews.co.th/regional/773504
จากกรณีครูสอนดำน้ำรายหนึ่งได้ออกมาเผยเรื่องราวถึงการดำน้ำหลังปลดล็อกวันแรกบริเวณกองหินชุมพร เกาะเต่า ซึ่งเป็นจุดดำน้ำที่สวย ปกคลุมด้วยดอกไม้ทะเล และฝูงปลาแน่น แต่ต้องตกใจเพื่อพบว่าบริเวณดังกล่าวได้เปลี่ยนไป ไร้ฝูงปลาที่เคยออกมาต้อนรับ อีกทั้งยังพบเครื่องมือประมง เศษเชือก อวน ซึ่งคาดว่าชาวประมงลักลอบเข้ามาจับปลาช่วงปิดโควิด จึงวอนเจ้าหน้าที่ช่วยเข้ามาตรวจสอบ ตามที่เสนอข่าวไปแล้วนั้น
เกี่ยวกับเรื่องนี้ ล่าสุด ผศ. ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม และอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Thon Thamrongnawasawat โดยระบุว่า
“ในกรณีที่มีเพื่อนนักดำน้ำโพสต์ว่า ปลาที่กองหินชุมพร จุดดำน้ำสำคัญของเกาะเต่า ลดลงเป็นจำนวนมาก โดยคาดว่าอาจเกิดจากการเข้ามาจับปลาในช่วงท่องเที่ยวปิดโควิด ผมขอเสริมดังนี้ครับ กองหินชุมพรไม่ได้อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติ กฎหมายที่เกี่ยวข้องเท่าที่ค้นเจอ คือ
1. ประกาศกรมประมง (2519) ห้ามทำการประมงรอบเกาะเต่าและเกาะหางเต่า รัศมี 3,000 เมตร แต่มีข้อยกเว้นว่า สามารถทำเบ็ดราว อวนลอย หรือลอบทะเลได้
2. ประกาศเขตรักษาพืชพันธุ์สัตว์น้ำ คุ้นๆ ว่ากองหินชุมพรน่าจะอยู่ (แต่ไม่มั่นใจ ต้องถามผู้เกี่ยวข้องโดยตรง) หากอยู่ จะมีกฎหมายกำหนดว่าห้ามจับสัตว์น้ำ มีบทลงโทษรุนแรงตามขนาดเรือด้วย สูงสุดถึง 30 ล้านบาท (150+ ตันกรอส)
3. ประกาศเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากร (หมดอายุ 2564) น่าจะอยู่ในพื้นที่ 1 (ต้องดูรายละเอียดว่าคลุมถึงไหม) ในประกาศห้ามจับปลาสวยงานและการทำประมงบางประเภท
สำหรับคำถามว่า มีการจับสัตว์น้ำในบริเวณนั้นหรือเปล่า? หน่วยงานที่เกี่ยวข้องน่าจะติดตามดูได้จากระบบติดตามเรือ VMS ประกอบกับการขอภาพถ่ายข้อมูลจากผู้แจ้ง รวมถึงการสำรวจเพิ่มเติมในพื้นที่หากจำเป็น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในที่นี้คงเป็นกรมประมงและกรมทรัพยากรทางทะเล หวังว่าคงมีการตรวจสอบต่อไป
และหากกฎหมายไม่ครอบคลุมหรือใดๆ คนในท้องถิ่นสามารถนำเสนอขึ้นมาได้ เช่น เสนอให้เป็นพื้นที่คุ้มครองทางทะเล ฯลฯ โดยผ่านตัวแทน/อบต. ฯลฯ เข้ามาทางกรรมการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งประจำจังหวัดสุราษฎร์ฯ ครับ”