7 พฤษภาคม 2563 หลักฐานจากอุกกาบาตที่พบในทวีปแอนตาร์กติกา เมื่อหลายพันล้านปีก่อนเคยมีมหาสมุทรอยู่บนดาวอังคาร

ที่มา: https://www.khaosod.co.th/bbc-thai/news_4079563
ตลอดช่วงกว่าหนึ่งสัปดาห์ที่ผ่านมา มีการเผยแพร่งานวิจัยใหม่ล่าสุดหลายชิ้นในวารสาร Nature Communications โดยมีหลักฐานบ่งชี้ว่า ดาวอังคารเคยมีแหล่งน้ำขนาดใหญ่ ทั้งแม่น้ำและมหาสมุทรที่อุดมไปด้วยสารอินทรีย์ เมื่อในอดีตหลายพันล้านปีมาแล้ว ผลการศึกษาชิ้นแรกซึ่งจัดทำโดยทีมนักวิจัยจากสถาบันอวกาศและวิทยาศาสตร์การบินอวกาศ (ISAS) ของประเทศญี่ปุ่นระบุว่า อุกกาบาต Allan Hills 84001 ที่มาจากดาวอังคาร และถูกค้นพบที่ทวีปแอนตาร์กติกาเมื่อ ๓๖ ปีก่อน มีร่องรอยของสารอินทรีย์จำพวกคาร์บอเนตที่บ่งชี้ว่า มันก่อตัวขึ้นในมหาสมุทรโบราณที่เต็มไปด้วยคาร์บอนและไนโตรเจน ซึ่งมหาสมุทรนี้เคยมีอยู่ในช่วงที่ดาวอังคารถือกำเนิดขึ้นได้ไม่นาน
ก่อนหน้านี้มีผู้ตั้งข้อสงสัยว่า สารอินทรีย์ที่พบในอุกกาบาตดังกล่าวอาจไม่ได้มาจากดาวอังคาร แต่เป็นเพียงการปนเปื้อนของสารอินทรีย์บนโลก ทำให้ทีมนักวิจัยชาวญี่ปุ่นต้องนำชิ้นส่วนจากอุกกาบาตปริศนามาวิเคราะห์ใหม่ โดยนำไปผ่านกระบวนการขจัดสิ่งปนเปื้อนที่ผิวหน้าด้วยลำไอออน (Ion beam) ในห้องปฏิบัติการที่ปลอดการปนเปื้อนระดับสูง จนมั่นใจได้ว่า เหลือเพียงเนื้อในของอุกกาบาตที่มีองค์ประกอบเหมือนกับขณะยังไม่ตกลงสู่พื้นโลก
ผลการวิเคราะห์พบว่า สารอินทรีย์ในอุกกาบาตจากดาวอังคารอายุ ๔ พันล้านปีนี้ เป็นสารประกอบคาร์บอเนตที่ก่อตัวขึ้นในน้ำ คล้ายกับหินปูนหรือแร่แคลไซต์ซึ่งมักก่อตัวขึ้นในแหล่งน้ำใต้ดิน และมหาสมุทรบนโลก แต่สารประกอบอินทรีย์จากดาวอังคารนี้มีไนโตรเจนเป็นองค์ประกอบหลัก โดยคาดว่าจะมีอยู่ทั่วไปในปริมาณมากทั่วมหาสมุทรโบราณ ซึ่งอาจเป็นปัจจัยในการให้กำเนิดรวมทั้งหล่อเลี้ยงสิ่งมีชีวิตได้
ด้านคณะนักวิทยาศาสตร์นานาชาติอีกทีมหนึ่ง ซึ่งนำโดยมหาวิทยาลัยอูเทรกต์ ประเทศเนเธอร์แลนด์ ได้เผยผลการวิเคราะห์ภาพถ่ายความละเอียดสูงจากดาวอังคารที่บันทึกไว้โดยกล้อง HiRise บนดาวเทียมโคจรสำรวจดาวอังคาร (MRO) ขององค์การนาซา โดยพบว่าหุบเหวบางแห่งบนดาวอังคารอาจเกิดจากแม่น้ำที่ไหลกัดเซาะเป็นเวลานานกว่า ๑ แสนปี
ภาพถ่ายนี้เป็นหลักฐานชิ้นแรกที่ยืนยันว่า ดาวอังคารเคยมีแม่น้ำสายใหญ่ที่ไหลบนพื้นผิวดาวเมื่อหลายพันล้านปีมาแล้ว โดยทีมผู้วิจัยชี้ให้เห็นร่องรอยของตะกอนดินและหิน ที่สะสมตัวอยู่ในหุบเหวบริเวณแอ่งเฮลลัส (Hellas Basin) ของดาวอังคารว่ามีความคล้ายคลึงกับลักษณะของตะกอนที่ก้นแม่น้ำและปากแม่น้ำบนโลก มีการแปลงภาพถ่ายดังกล่าวให้เป็นแผนที่ภูมิประเทศแบบสามมิติ ทำให้ตรวจวัดได้ว่ากองตะกอนในหุบเหวที่พบมีความสูงราว ๒๐๐ ม. และกว้างถึง ๑.๕ กม. ซึ่งกองตะกอนขนาดมหึมาเช่นนี้จะเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อมีน้ำปริมาณมหาศาลพัดพามาทับถมกันอย่างต่อเนื่องยาวนานหลายหมื่นปี หรืออย่างน้อย ๑ แสนปีขึ้นไป อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์ยังไม่อาจยืนยันได้ว่า ร่องรอยของแม่น้ำบนดาวอังคารที่ค้นพบในครั้งนี้ สามารถจะเป็นหลักฐานชี้ถึงการมีอยู่ของสิ่งมีชีวิตต่างดาวได้ด้วยหรือไม่