5 พฤษภาคม 2563 จ. บุรีรัมย์วิกฤติ!! อ่างเก็บน้ำ ๒ แห่งผลิตประปา เหลือเพียง ๗ หมื่นลูกบาศก์เมตร

ที่มา: https://siamrath.co.th/n/152697
จ. บุรีรัมย์ประสบปัญหาภัยแล้งเป็นระยะเวลายาวนาน ตั้งแต่ปี ๒๕๖๒ จนกระทั่งถึงปัจจุบัน ทำให้ปริมาณน้ำต้นทุนในอ่างเก็บน้ำห้วยจระเข้มาก และอ่างเก็บน้ำห้วยตลาด อ. เมืองบุรีรัมย์ จ. บุรีรัมย์ ซึ่งเป็นแหล่งน้ำดิบที่ใช้ผลิตประปาของการประปาส่วนภูมิภาคสาขาบุรีรัมย์ หล่อเลี้ยงประชาชน และเขตเศรษฐกิจสำคัญของตัวเมืองบุรีรัมย์กำลังอยู่ในขั้นวิกฤติ โดยที่อ่างเก็บน้ำห้วยจระเข้มาก ขณะนี้มีปริมาณน้ำกักเก็บในอ่างเหลือเพียงกว่า ๖๔,๐๐๐ ลูกบาศก์เมตร หรือเฉลี่ยร้อยละ ๐.๒๕ จากปริมาณความจุอ่างทั้งหมดกว่า ๒๖ ล้านลูกบาศก์เมตร ส่วนอ่างเก็บน้ำห้วยตลาด ขณะนี้มีปริมาณน้ำกักเก็บในอ่างเหลือเพียงกว่า ๙,๐๐๐ ลูกบาศก์เมตร หรือเฉลี่ยร้อยละ ๐.๐๓ จากปริมาณความจุอ่างทั้งหมดกว่า ๓๐.๘ ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งต้องบริหารจัดการน้ำให้เพียงพอสำหรับอุปโภคบริโภคในการผลิตประปา ขณะนี้ ทางโครงการชลประทานบุรีรัมย์ผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำลำจังหัน และอ่างเก็บน้ำลำปะเทีย อ. ละหานทราย จ. บุรีรัมย์มาเติมยังอ่างเก็บน้ำห้วยจระเข้มาก รวมระยะทางประมาณ ๙๔ กม. โดยเริ่มทำการผันน้ำตั้งแต่วันที่ ๑๔ ก.พ. ๖๓ ที่ผ่านมา และเมื่อวันที่ ๑ พ.ค. ๖๓ น้ำเดินทางมาถึงยังอ่างเก็บน้ำห้วยจระเข้มากแล้ว รวมปริมาณน้ำกว่า ๑ ล้านลูกบาศก์เมตร นอกจากปริมาณ น้ำดังกล่าวแล้ว โครงการชลประทานบุรีรัมย์พิจารณาหาแนวทางการแก้ไขปัญหาการผันน้ำตามจุดที่เป็นอาคารขวางทางน้ำต่างๆ เพื่อเร่งการผันน้ำไปยังสถานีสูบน้ำลำปลายมาศให้เร็วและให้ได้ปริมาณมากที่สุด อีกทั้งยังพิจารณานำน้ำจากแหล่งน้ำที่อยู่ใกล้เคียงไปเติมยังสถานีสูบน้ำลำปลายมาศ ได้แก่ น้ำในลำปลายมาศ ประมาณ ๖๐,๐๐๐ ลูกบาศก์เมตร น้ำจากด้านท้ายฝายลำปลายมาศ ประมาณ ๘๐,๐๐๐ ลูกบาศก์เมตร และน้ำจากบริเวณด้านหน้าฝายบ้านโคกขาม ประมาณ ๒๐๐,๐๐๐ ลูกบาศก์เมตร และมั่นใจว่าจะมีน้ำเพียงพอสำหรับผลิตน้ำประปาของ อ. เมืองบุรีรัมย์ จ. บุรีรัมย์ตลอดช่วงฤดูแล้งนี้ ขณะที่ การประปาส่วนภูมิภาคสาขาบุรีรัมย์ลดแรงดันน้ำ เพื่อลดการจ่ายน้ำลง โดยจะเริ่มลดแรงดันน้ำในแต่ละวันตั้งแต่เวลา ๑๒.๐๐ น.ถึงเวลา ๐๖.๐๐ น.ของวันรุ่งขึ้น ตั้งแต่วันที่ ๑๐ เม.ย. ๖๓ เป็นต้นมา และหลังวันที่ ๓๐ เม.ย. ๖๓ หากยังไม่สามารถหาน้ำมาเติมในอ่างเก็บน้ำทั้งสองแห่งได้ การประปาส่วนภูมิภาคสาขาบุรีรัมย์จะเริ่มดำเนินการมาตรการที่ ๓ คือ แบ่งโซนพื้นที่การจ่ายน้ำเป็นเวลา ยกเว้นโรงพยาบาล ดังนั้นขอให้ประชาชนทุกครัวเรือนจัดเตรียมภาชนะสำรองน้ำเก็บไว้ใช้ และขอให้ช่วยกันใช้น้ำอย่างประหยัด เพื่อให้มีน้ำประปาอุปโภคบริโภคได้นานยิ่งขึ้น จนกว่าปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำทั้ง ๒ แห่งจะเป็นปกติ หรือได้น้ำจากแหล่งน้ำอื่นมาช่วยเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุน