4 พฤษภาคม 2564 NIA ส่ง 3 นวัตกรรม แอปฯ แจ้งเตือน-ชิงเผา และเครื่องอัดชีวมวลเคลื่อนที่ แก้ปัญหาไฟป่าภาคเหนือ

ที่มา : https://mgronline.com/onlinesection/detail/9640000042314

สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ส่ง 3 นวัตกรรม แก้ปัญหาไฟป่าในพื้นที่ภาคเหนือ ทั้งแอปพลิเคชัน Smoke Watch แจ้งเตือนและเฝ้าระวังไฟป่า แอปพลิเคชัน Dr. Barrier ช่วยตัดสินใจชิงเผาเพื่อลดปัญหาไฟป่า และเครื่องอัดวัสดุชีวมวลแบบเคลื่อนที่ได้ เพื่อลดปริมาณเชื้อเพลิงตั้งต้นของการเกิดไฟป่าและหมอกควัน

1. “Smoke Watch” แอปพลิเคชันแจ้งเตือนและเฝ้าระวังไฟป่าจากการเผาในที่โล่ง แอปพลิเคชันที่ช่วยบริหารจัดการกำลังเจ้าหน้าที่ที่มีอยู่อย่างจำกัด ให้สามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการเข้าควบคุมไฟป่าอันเนื่องมาจากการเผาในภาคการเกษตร โดยระบบที่นำมาใช้เป็นการตรวจสอบจุดความร้อน หรือ Hotspot ผ่านดาวเทียม แบ่งการทำงานออกเป็น 3 ส่วน คือ 1. ระบบแจ้งเตือนไฟป่า 2. ระบบประมวลผลจากข้อมูลการแจ้งเตือนมาจากภาคประชาชน ควบคู่กับพิกัดของพื้นที่และความเสี่ยงในการเกิดเหตุก่อนจะส่งไปยังเจ้าหน้าที่เพื่อลดภาระการคัดกรองข้อมูลเท็จ และ 3. ระบบการรายงานข้อมูลเทียบกับภูมิศาสตร์ของพื้นที่เพื่อช่วยให้เจ้าหน้าที่บริหารจัดการไฟป่าได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ ทั้งนี้ การนำเอาระบบดังกล่าวเข้ามาใช้นั้นสามารถลดปัญหาหมอกควันและไฟป่าในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนลงได้อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งเริ่มใช้จริงแล้วในพื้นที่จังหวัดเชียงรายครอบคลุมพื้นที่ป่าประมาณ 2 ล้านกว่าไร่

2. “Dr. Barrier” แอปพลิเคชันช่วยตัดสินใจชิงเผาเพื่อลดปัญหาไฟป่า แนวคิดการชิงเผาป่านั้นเป็นแนวคิดที่ต่างประเทศใช้ในการบริหารจัดการไฟป่าที่เกิดขึ้นในพื้นที่ โดยเป็นการเผาใบไม้ในช่วงเริ่มผลัดใบ ซึ่งการเผาในระยะนี้จะทำให้เกิดควันและความรุนแรงน้อยกว่าการเผาในหน้าร้อน อย่างไรก็ตาม กระบวนการดังกล่าวจะทำงานผ่านแอปพลิเคชันชิงเผาตั้งแต่การประเมินความเสี่ยง ปริมาณการสะสมของเชื้อเพลิง สภาพอากาศ และสภาพภูมิประเทศ เพื่อกำหนดวันชิงเผาให้เหมาะสม นอกจากระบบดังกล่าวจะช่วยป้องกันการเกิดไฟป่าที่รุนแรง และแนะนำวิธีการจัดการเผาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนวิธีการชิงเผา ทางโครงการและชาวบ้านได้ดำเนินการตามแนวทางของกรมอุทยานแห่งชาติฯ คือ สามารถเผาได้ 1 ตารางกิโลเมตรต่อครั้ง จัดทำแนวกันไฟ และผลจากการการชิงเผา สามารถลดอัตราการเกิดไฟไหม้ระดับรุนแรงได้มากกว่าร้อยละ 60-70 สำหรับนวัตกรรมนี้ได้เริ่มทดลองใช้แล้ว ที่ตำบลผาเลือด อำเภอท่าปลา จังหวัดอุตรดิตถ์ ครอบคลุมพื้นที่ป่าประมาณ 100 ไร่

3. นวัตกรรมเครื่องอัดวัสดุชีวมวลแบบเคลื่อนที่ได้ เพื่อลดปริมาณเชื้อเพลิงตั้งต้นของการเกิดไฟป่าและหมอกควัน ด้วยการเปลี่ยนใบไม้ให้เป็นชีวมวลอัดเม็ด ชาวบ้านในพื้นที่จะนำเครื่องอัดวัสดุชีวมวลเข้าไปเก็บรวบรวมใบไม้ในพื้นที่ป่าชุมชน เพื่อนำมาบดเป็นผงและเข้าสู่กระบวนอัดเม็ด จากนั้นจึงนำไปจำหน่ายให้แก่โรงไฟฟ้าชีวมวล หรือภาคอุตสาหกรรมที่ต้องการเชื้อเพลิงสำหรับให้ความร้อน นอกจากนี้ ใบไม้ที่มีสภาพสมบูรณ์ยังสามารถนำมาอัดขึ้นรูปเป็นบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตลอดจนกระถางต้นไม้ได้ ปัจจุบันเริ่มนำไปทดลองใช้ในพื้นที่ตำบลท่าวังทอง อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา ซึ่งมีพื้นที่ป่าชุมชนจำนวน 500 ไร่ พบว่าการเก็บใบไม้มาทำเป็นชีวมวลอัดเม็ดและผลิตภัณฑ์ต่างๆ ช่วยลดอัตราการเกิดไฟป่าและหมอกควันที่เคยเกิดขึ้นในพื้นที่ได้เป็นอย่างดี อีกทั้งยังช่วยให้ชาวบ้านมีรายได้จากการเพิ่มมูลค่าให้กับเศษใบไม้อีกด้วย

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้เพื่อปรับปรุงประสบการณ์ของคุณ เราจะถือว่าคุณรับได้กับเรื่องนี้ แต่คุณสามารถเลือกไม่รับได้หากต้องการ ยอมรับ อ่านเพิ่มเติม

Privacy & Cookies Policy