30 ธันวาคม 2563 วิจัยการกัดของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในยุคแรก
ที่มา: https://www.thairath.co.th /news/society/2003760
ประวัติศาสตร์สมัยดึกดำบรรพ์เป็นเรื่องน่ารู้ ไม่เว้นแต่เรื่องเล็กเรื่องน้อยที่อาจเป็นเบาะแสที่นำไปสู่การค้นพบที่น่าทึ่ง กระทั่งเรื่องอาหารการกิน หรือวิธีการกินของสัตว์โบราณ เช่น ความสงสัยของนักบรรพชีวินวิทยาที่อยากรู้เกี่ยวกับการเคี้ยวของสัตว์เมื่อ ๑๕๐ ล้านปีก่อน นักบรรพชีวินวิทยาจากสถาบันธรณีศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยบอนน์ ประเทศเยอรมนี ประสบความสำเร็จในการสร้างรูปแบบการเคี้ยวของ Priacodon fruitaen สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมยุคแรกมีชีวิตเมื่อเกือบ ๑๕๐ ล้านปีก่อนและสูญพันธุ์ไปแล้ว หลังวิเคราะห์ชิ้นส่วนกระดูกขากรรไกรบนและล่างของซากฟอสซิล โดยกรามแต่ละซี่มีขนาดใหญ่กว่า ๑ มม. จนระบุได้ถึงปัจจัยเกี่ยวกับอาหารของมันและตำแหน่งในลำดับวงศ์ตระกูลของ Priacodon fruitaen ทีมได้จำลองการเคี้ยวโดยเปรียบเทียบตัวเลือก ๒ แบบบนคอมพิวเตอร์ ทั้งแบบดั้งเดิมที่สัมผัสระหว่างกรามบนและล่างอาจน้อยเกินไปที่สัตว์จะบดขยี้อาหารได้อย่างมีประสิทธิภาพ แตกต่างกับทางเลือกที่ใหม่กว่า ซึ่งคมตัดของฟันกรามจะเลื่อนมาชนกันเมื่อมีการเคี้ยว ดังนั้นฟันของ Priacodon fruitaen ทำให้มันสามารถตัดเนื้อของเหยื่อได้ง่าย แต่สัตว์ชนิดนี้อาจไม่ใช่สัตว์กินเนื้อพันธุ์แท้ เพราะฟันกรามของมันมีความสูงเป็นรูปกรวยคล้ายยอดเขา น่าจะเหมาะต่อการเจาะและบดกระดองแมลงด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อยในโครงสร้างตรงยอดแหลมของฟัน ทำให้ประสิทธิภาพการเคี้ยวแย่ลงอย่างมาก และกลายเป็นข้อเสียในการวิวัฒนาการ ฟันไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพอาหารที่เปลี่ยนแปลงไป