3 ธันวาคม 2564 หลักฐานแรกการแพร่บรูเซลโลซิสจากสัตว์สู่คน

ที่มา: https://www.thairath.co.th/news/foreign/2255725
แบคทีเรียที่ก่อให้เกิดโรคบรูเซลโลซิส (Brucellosis) นั้นมีรายงานว่า พบในสัตว์ป่าหลายชนิด เช่น แกะป่า แพะ วัวควาย กระทิงยุโรป กวางเรนเดียร์ และหมูป่า องค์การอนามัยโลกระบุว่า โรคนี้แพร่ระบาดในโค และมนุษย์ติดเชื้อชนิดนี้เมื่อสัมผัสโดยตรงกับสัตว์ที่ติดเชื้อ ซึ่งในโบราณกาลนั้นสัตว์เหล่านี้ล้วนเป็นแหล่งอาหารของกลุ่มมนุษย์นีแอนเดอร์ธัล (Neanderthal) เครือญาติยุคก่อนประวัติศาสตร์ของมนุษย์เราที่สูญพันธุ์ไปแล้ว ทีมวิจัยนำโดยนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยซูริก ในสวิตเซอร์แลนด์ เผยพบหลักฐานของโรคบรูเซลโลซิสในซากดึกดำบรรพ์ หรือฟอสซิลมนุษย์นีแอนเดอร์ธัล ที่อาจเป็นหลักฐานแรกสุดของการแพร่กระจายโรคบรูเซลโลซิสจากสัตว์สู่คน เมื่อตรวจวิเคราะห์โครงกระดูกมนุษย์นีแอนเดอร์ธัล ที่รู้จักกันในชื่อ “Old Man of La Chapelle” ที่พบในถ้ำใกล้กับหมู่บ้านลา ชาแปล อ็อง แซ็งส์ ของฝรั่งเศส เมื่อปีพ.ศ. 2451 นักวิจัยระบุว่า นี่เป็นซากมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่เกือบสมบูรณ์ชิ้นแรกที่ค้นพบ และเป็นหนึ่งในซากที่มีการวิจัยมากที่สุด การศึกษาก่อนหน้านี้พบว่า มนุษย์คนนี้ตายเมื่อช่วง 50,000 ปี ขณะอายุ 50 ปีหรือ 60 ปีปลาย ๆ และยังเป็นโรคข้อเสื่อมขั้นสูง ซึ่งพบได้บ่อยในลำกระดูกสันหลัง และข้อต่อที่สะโพก แต่การวิจัยกระดูกครั้งใหม่พบว่า การเปลี่ยนแปลงทางพยาธิวิทยาบางอย่างเกิดจากการอักเสบที่มาจากแบคทีเรียบรูเซลโลซิส บ่งชี้ถึงการที่โรคแพร่จากสัตว์สู่คนในช่วงวิวัฒนาการของสายพันธุ์มนุษย์ ทั้งนี้ โรคบรูเซลโลซิสยังคงมีอยู่ในปัจจุบัน ทำให้เป็นไข้ ปวดกล้ามเนื้อ เหงื่อออกตอนกลางคืนนานหลายสัปดาห์ถึงหลายปี นักวิจัยสงสัยว่า แบคทีเรียที่ก่อโรคนี้อาจเข้าสู่ร่างกายมนุษย์นีแอนเดอร์ธัลผ่านการที่พวกเขาฆ่าสัตว์หรือกินเนื้อดิบ ๆ นั่นเอง