3 ธันวาคม 2562 โลกร้อน : ประชุม COP25 เปิดฉากแล้ว ยูเอ็นชี้โลกใกล้เผชิญภาวะฉุกเฉินด้านสภาพภูมิอากาศที่ “เกินจะเยียวยา”
ที่มา: https://www.khaosod.co.th/bbc-thai/news_3115464
บรรดาผู้นำโลก และผู้แทนด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่างไปรวมตัวกันที่การประชุมภาคีแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งที่ 25 หรือ COP25 ซึ่งเปิดฉากขึ้นแล้วในวันที่ 2 ธ.ค. ที่กรุงมาดริด ของประเทศสเปน และจะดำเนินไปจนถึงวันที่ 13 ธ.ค.
นายอันโตนิโอ กูแตร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ (ยูเอ็น) กล่าวต่อที่ประชุมว่าขณะนี้โลกกำลังจวนเจียนจะเข้าสู่ภาวะฉุกเฉินด้านสภาพภูมิอากาศเต็มขั้นซึ่ง “จุดที่ไม่สามารถเยียวยาให้กลับคืนดังเดิมได้อยู่ไม่ห่างไกล” ขณะที่ Save the Children องค์กรการกุศลเพื่อเด็ก ระบุว่ามีผู้คนราว 33 ล้านคนทั่วโลกกำลังตกอยู่ในภาวะไม่มั่นคงทางอาหารในระดับฉุกเฉิน เนื่องจากพายุไซโคลน และภัยแล้งอันเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในปีนี้เด็กและเยาวชนทั่วโลกต่างพากันหยุดเรียนประท้วงเพื่อเรียกร้องให้ผู้ใหญ่แก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นการประชุมของภาคส่วนต่าง ๆ ซึ่งเดิมมีกำหนดจัดขึ้นที่ประเทศชิลี แต่รัฐบาลได้ขอยกเลิกไป เพราะเกิดปัญหาความวุ่นวายจากเหตุประท้วงทั่วประเทศ ด้วยเหตุนี้ประเทศสเปนจึงเข้ามารับหน้าที่เจ้าภาพจัดการประชุมแทน ซึ่งจะมีผู้เข้าร่วมราว 29,000 คน
ตลอดการประชุมที่จะดำเนินไปเป็นเวลา 2 สัปดาห์ เลขาธิการยูเอ็น ได้กล่าวก่อนการประชุมว่า วิกฤตด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นปัญหาฉุกเฉินที่ผู้นำการเมืองต้องเข้ามาจัดการ คาดว่าเขาจะเรียกร้องให้นานาชาติเพิ่มเป้าหมายการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้มากขึ้น และยุติการให้เงินอุดหนุนการสกัดเชื้อเพลิงฟอสซิล และต้องไม่มีการสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหินแห่งใหม่ขึ้นมาอีกหลังจากปี 2020 องค์กร Save the Children ระบุว่าปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลอย่างหนักต่อผู้คนในแอฟริกา ในภาพนี้เผยให้เห็นเด็กขาดสารอาหารรุนแรงในประเทศเคนยา นายกูแตร์เรส กล่าวว่า “ในช่วง 12 เดือนที่สำคัญต่อจากนี้ เราจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องได้รับคำมั่นในการแก้ปัญหาจากประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะประเทศผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกรายใหญ่ของโลก เพื่อเริ่มลดการปล่อยก๊าซในทันที ให้สามารถบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์ (carbon neutrality) ภายในปี 2050” “เราต้องหยุดการขุดเจาะ แล้วใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่จากพลังงานหมุนเวียน และการแก้ปัญหาด้วยธรรมชาติ”
ปัจจุบันเกือบทุกประเทศทั่วโลกได้ลงนามและให้สัตยาบันในความตกลงปารีส (Paris agreement) ซึ่งภายใต้เงื่อนไขของความตกลงนี้ ประเทศต่าง ๆ ต้องเพิ่มเป้าหมายใหม่ในการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกก่อนสิ้นปี 2020 การประชุมในกรุงมาดริดครั้งนี้เป็นการเริ่มต้นของการเจรจาที่เข้มข้นในช่วง 12 เดือนข้างหน้านี้ ซึ่งจะนำไปสู่บทสรุปในการประชุม COP26 ที่เมืองกลาสโกว์ ของสกอตแลนด์ ในเดือน พ.ย.ปีหน้า
นายอันโตนิโอ กูแตร์เรส เลขาธิการยูเอ็น ชี้ “ต้องไม่มีการสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหินแห่งใหม่ขึ้นมาอีกหลังจากปี 2020” ในช่วง 2 สัปดาห์ของการประชุมจะมีผู้นำราว 50 คน จากประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกไปร่วมประชุม แต่หนึ่งในนั้นจะไม่มีประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ รวมอยู่ด้วย อย่างไรก็ตาม นางแนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรของสหรัฐอเมริกา จะไปร่วมประชุมพร้อมด้วยคณะผู้แทนจากสภาคองเกรส แต่กลุ่มนักรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อมในสหรัฐอเมริกา ชี้ว่า แม้ความเคลื่อนไหวครั้งนี้จะเป็นนิมิตหมายอันดี แต่ก็ควรมีมาตรการที่เป็นรูปธรรมในการแก้ปัญหาด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วย
น.ส.จีน ซู จากศูนย์เพื่อความหลากหลายทางชีวภาพในสหรัฐอเมริกา ระบุว่า “สหรัฐอเมริกายังเป็นประเทศอันดับหนึ่งที่ก่อให้เกิดภาวะฉุกเฉินทางสภาพอากาศ แม้แต่นักการเมืองพรรคเดโมแครตยังไม่เคยให้คำมั่นที่จะมีส่วนรับผิดชอบในเรื่องนี้อย่างตรงไปตรงมา” นอกจากนี้ น.ส.เกรียตา ทุนแบร์ย นักรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อมชาวสวีเดนจะเดินทางไปร่วมการประชุมที่เมืองหลวงของประเทศสเปนด้วยการล่องเรือที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยคาดว่าเธอจะเดินทางถึงในอีกไม่กี่วันข้างหน้านี้