3 กรกฎาคม 2563 เพิ่มศักยภาพเขื่อนภูมิพลคาด ๒๕๗๐ เติมน้ำได้ ๒ พันล้านลูกบาศก์เมตร

ที่มา:
https://www.dailynews.co.th/politics/783083
นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีกรมชลประทานกล่าวว่า กรมชลประทานศึกษาและออกแบบโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนเขื่อนภูมิพล เพื่อรองรับความต้องการใช้น้ำของลุ่มน้ำเจ้าพระยา ทั้งการอุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศ และการเกษตร พบว่า แม่น้ำยวม จ. แม่ฮ่องสอนมีปริมานน้ำไหลผ่านระดับดีมาก ประมาน ๒,๘๐๐ ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี จึงวางแผนผันน้ำจากแม่น้ำยวม มาเติมเขื่อนภูมิพล จ. ตากราว ๑,๘๐๐ ล้านลูกบาศก์เมตร และเป็นปริมาณน้ำที่สามารถช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรเขตภาคกลางได้ถึง ๑.๖ ล้านไร่ ปัจจุบันยังส่งน้ำในช่วงฤดูแล้งให้ไม่ได้ รวมทั้งอาจเสริมการเดินน้ำให้มากขึ้น เร็วขึ้นกว่าเดิมได้ด้วย ขณะเดียวกันยังมีการหารือการจัดการผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม และสังคม โดยกรณีผู้ถูกผลกระทบในพื้นที่โครงการ กรมชลประทานเตรียมการช่วยเหลือทุกด้านให้เหมาะสมและเป็นที่พึงพอใจ มีการวางแผนปลูกป่าทดแทน ๒ เท่าราว ๗,๔๐๐ ไร่ ทำสถานีทดลอง สถานีดูแลปลา โดยร่วมมือกับกรมประมง กรมอุทยานฯ กรมป่าไม้ เนื่องจากเป็นการดูแลสิ่งแวดล้อมที่ต้องทำอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ค่าชดเชยเตรียมดำเนินการตามระเบียบข้อกฎหมาย ภายใต้งบประมาณกว่า ๗๐,๐๐๐ ล้านบาท การดำเนินการจากนี้ คาดว่าการศึกษาจะแล้วเสร็จในปี ๒๕๖๓ โดยทำการออกแบบไปพร้อมกัน สำหรับปี ๒๕๖๔ เป็นกระบวนการเตรียมความพร้อมขอใช้พื้นที่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ส่วนปี ๒๕๖๕ – ๒๕๖๖ พร้อมในการเสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์พิจารณา เพื่อเข้าสู่กระบวนการของคณะกรรมการน้ำแห่งชาติ ซึ่งหากทำได้ตามแผน คาดว่าการเพิ่มศักยภาพเขื่อนภูมิพลนี้จะแล้วเสร็จในปี ๒๕๗๐ แนวทางการดำเนินโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนเขื่อนภูมิพล คือ การผันน้ำจากแม่น้ำยวมลงเขื่อนภูมิพล ด้วยการสร้างเขื่อนน้ำยวม จ. แม่ฮ่องสอนเพื่อกักเก็บน้ำ แล้วลำเลียงผ่านสถานีสูบน้ำ ก่อนส่งน้ำด้วยแรงโน้มถ่วงผ่านอุโมงค์ส่งน้ำไปยังเขื่อนภูมิพล เมื่อโครงการแล้วเสร็จ จะเพิ่มปริมาณน้ำได้ถึง ๑,๘๐๐ ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ช่วยเพิ่มพื้นที่เพาะปลูก อุปโภคบริโภค เป็นแหล่งน้ำต้นทุนในการผลิตน้ำประปา พลังงานไฟฟ้า แก้ปัญหาขาดแคลนน้ำในพื้นที่ท้ายเขื่อนภูมิพล และลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างได้
นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยถึงการวางแผนบริหารจัดการน้ำเพื่อแก้ไขปัญหาด้านน้ำที่ยั่งยืนในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นโครงการบริหารจัดการน้ำโขง – เลย – ชี- มูล ที่มีเป้าหมายส่งน้ำเพื่อเพิ่มพื้นที่ชลประทาน โดยเติมน้ำลงเขื่อนอุบลรัตน์ จ. ขอนแก่น จากการศึกษาพบว่า ในระยะแรกจะช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรได้ ๑.๖๙ ล้านไร่ ระยะที่ ๒ จะได้พื้นที่การเกษตรเพิ่มประมาณ ๔ ล้านไร่ อีกทั้งยังช่วยลดความเสี่ยงกรณีฝนตกล่าช้า ฝนทิ้งช่วง ให้สามารถกระจายน้ำให้พื้นที่วิกฤติ และส่งน้ำได้อย่างทั่วถึง เกษตรกรจะได้รับการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น ซึ่งภาคอีสานมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการพัฒนาการเกษตร เนื่องจากมีพื้นที่เกษตร ๖๓.๘๕ ล้านไร่ แต่ยังทำชลประทานได้เพียง ๘.๖๙ ล้านไร่ นอกจากนี้ยังถูกผลกระทบจากภัยแล้ง และอุทกภัยเป็นประจำทุกปีอีกด้วย การศึกษาภาพรวมของการพัฒนาโครงการอย่างเต็มศักยภาพ จะสามารถส่งน้ำให้พื้นที่การเกษตรเกือบทั้งหมด ในลุ่มน้ำโขง ชี มูลได้ เนื่องจากเป็นโครงการขนาดใหญ่ โดยแบ่งการดำเนินโครงการเป็น ๕ ระยะ การศึกษาความเหมาะสมโครงการส่วนของการพัฒนาระยะที่ ๑ สรุปได้ว่า ปริมาณน้ำที่ผันได้ ๑,๙๑๖ ล้านลูกบาศกเมตรต่อปี เติมน้ำเขื่อนอุบลรัตน์ เขื่อนลำปาว และเขื่อนห้วยหลวง ๒๓๓ ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี มีพื้นที่ชลประทาน ๑.๖๙ ล้านไร่ มีพื้นที่รับประโยชน์ ๗ จังหวัด ๒๗ อำเภอ สร้างรายได้ด้านการเกษตรเพิ่มขึ้น ๘๕,๖๗๒ บาทต่อครัวเรือนต่อปี ระยะต่อไปกรมชลประทานจะเพิ่มศักยภาพน้ำให้ได้ตามผลแนวทางศึกษา จะสามารถเพิ่มพื้นที่ชลประทานได้ประมาณ ๓๔ ล้านไร่