29 พฤศจิกายน 2562 ชป. วอนน้ำต้นทุนในอ่างฯ ส่วนใหญ่มีน้อย ใช้สอยอย่างประหยัด
รองอธิบดีกรมชลประทานเผยสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำสามารถสนับสนุนได้เฉพาะการอุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศและไม้ผลไม้ยืนต้น
ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยถึง สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลาง ทั่วประเทศว่า ปัจจุบัน(28 พ.ย. 62) มีปริมาณน้ำในอ่างฯรวมกัน 49,254 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 65 ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้ 25,366 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกัน 11,700 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 47 ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้ 5,004 ล้าน ลบ.ม. สามารถสนับสนุนได้เฉพาะการอุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศและไม้ผลไม้ยืนต้น เท่านั้น
สำหรับแผนการจัดสรรน้ำในช่วงฤดูแล้งปี 2562/2563 (ระหว่าง 1 พ.ย. 62 – 30 เม.ย. 63) เพื่อสนับสนุนการใช้น้ำ ในเขตชลประทาน มีปริมาณน้ำจัดสรรจากอ่างเก็บน้ำทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น 17,620 ล้าน ลบ.ม.(น้อยกว่าปีที่แล้วประมาณ 7,000 ล้าน ลบ.ม.) เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก มีปริมาณน้ำจัดสรรรวมทั้งสิ้น 4,000 ล้าน ลบ.ม.(น้อยกว่าปีที่แล้ว 3,700 ล้าน ลบ.ม.) ด้านผลการจัดสรรน้ำฤดูแล้งทั้งประเทศ ปัจจุบัน (28 พ.ย. 62) มีการใช้น้ำไปแล้ว 2,472 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 14 ของแผนจัดสรรน้ำฯ เฉพาะในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีการใช้น้ำไปแล้ว 720 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 18 ของแผนจัดสรรน้ำฯที่วางไว้
ส่วนการควบคุมค่าความเค็มทั้งในแม่น้ำเจ้าพระยา ที่สถานีประปาสำแล วัดได้ 0.17 กรัมต่อลิตร, แม่น้ำปราจีนบุรี-บางปะกง ที่สถานีปราจีนบุรี วัดได้ 0.03 กรัมต่อลิตร แม่น้ำท่าจีน ที่สถานีปากคลองจินดา วัดได้ 0.17 กรัมต่อลิตร และแม่น้ำแม่กลอง ที่สถานีปากคลองดำเนินสะดวก วัดได้ 0.14 กรัมต่อลิตร ซึ่งสามารถควบคุมค่าความเค็มให้อยู่ในเกณฑ์เฝ้าระวังไม่เกิน 0.25, 2, 0.75 และ 0.75 กรัมต่อลิตร ตามลำดับ การประปาส่วนภูมิภาค และการประปานครหลวง ยังสามารถใช้ปริมาณน้ำดิบจากแม่น้ำดังกล่าวผลิตประปาได้ตามปกติ ทั้งนี้ กรมชลประทาน จะดำเนินการบริหารจัดการน้ำตามแผนที่วางไว้อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดความเสถียรภาพและความมั่นคงด้านน้ำอย่างเพียงพอตลอดฤดูแล้งนี้ พร้อมกันนี้ยังได้จัดเตรียมความพร้อมเครื่องสูบน้ำ และรถยนต์บรรทุกน้ำ กระจายอยู่ตามสำนักงานชลประทานและพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งต่างๆ ทั่วประเทศ ซึ่งสามารถเข้าไปให้ความช่วยเหลือประชาชนได้ทันที หากเกิดวิกฤตขาดแคลนน้ำขึ้นมา ทั้งนี้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือประชาชนที่ประสบกับปัญหาภัยแล้ง และปัญหาการขาดแคลนน้ำสามารถติดต่อขอความช่วยเหลือจากโครงการชลประทานในพื้นที่ของท่านได้ตลอดเวลา