28 มีนาคม 2563 อานิสงส์มาตรการปิดเมืองรับโควิด ฉุดมลพิษอากาศเมืองกรุงให้ทุเลา

ที่มา : https://greennews.agency/?p=20597
ข้อมูลสถิติการตรวจวัดมลพิษทางอากาศเผยชัด คุณภาพอากาศในหลายพื้นที่ของกรุงเทพมหานครและปริมณฑลดีขึ้นตามรอยเมืองใหญ่ทั่วโลก จากผลพวงการระบาดไวรัส COVID-19 ด้านกรีนพีชชี้ ปรากฎการณ์ดังกล่าว เป็นสิ่งยืนยันชัดเจนว่า การจำกัดการเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัว และหันมาทำงานที่บ้าน สามารถช่วยแก้ปัญหามลพิษทางอากาศในกรุงเทพฯ ได้จริง
นับตั้งแต่ไวรัส COVID-19 แพร่ระบาดอย่างรวดเร็วไปทั่วโลกตั้งแต่ช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมา จนเป็นเหตุให้รัฐบาลหลายประเทศรวมถึง ประเทศไทย ประกาศมาตรการคุมเข้มการเดินทาง รณรงค์ให้ประชาชนหลีกเลี่ยงการพบปะชุมนุมในสถานที่สาธารณะ และส่งเสริมให้ทำงานจากที่บ้านแทน เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัส ส่งผลให้มลพิษทางอากาศเขตเมืองและอุตสาหกรรมโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ไนโตรเจนไดออกไซด์ (NO2) และฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน (PM2.5) ในหลายประเทศลดลงอย่างชัดเจน
จากข้อมูลการตรวจวัดคุณภาพอากาศ โดยกรมควบคุมมลพิษ ในช่วงเดือนที่ผ่านมา เปิดเผยว่า กรุงเทพมหานครและปริมณฑลก็เป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่พบว่า มีคุณภาพอากาศดีขึ้น จากผลพวงการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 และมาตรการปิดเมือง
โดยจากการประมวลสถิติระดับค่าเฉลี่ยรายเดือนของก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ และฝุ่น PM2.5 ในช่วงเดือนมีนาคม ระหว่างปี พ.ศ. 2560 – 2563 พบว่า ช่วงเดือนมีนาคมปีนี้ ระดับก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ และฝุ่น PM2.5 ในบางพื้นที่ของกรุงเทพฯ และปริมณฑล มีปริมาณลดลงอย่างเห็นได้ชัด เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนๆ โดยเฉพาะในย่านอุตสาหกรรมชานเมืองเช่น เขตบางขุนเทียน กรุงเทพฯ อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร และ อ.บางเสาธง จ.สมุทรปราการ
ผู้อำนวยการประจำประเทศไทย กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ธารา บัวคำศรี ตั้งข้อสังเกตว่า คุณภาพอากาศที่ดีขึ้นอย่างชัดเจนในพื้นที่กรุงเทพฯ และจังหวัดข้างเคียง เป็นผลโดยตรงจากการปริมาณการปลดปล่อยมลพิษ จากภาคอุตสาหกรรมและคมนาคมขนส่ง ที่ลดลงจากผลกระทบของการระบาดไวรัส COVID-19 ซึ่งเป็นสภาพการณ์เดียวกันกับ ปรากฎการณ์การลดลงของมลพิษก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ ในหลายเมืองใหญ่ของประเทศจีน และทวีปยุโรป
“การลดลงของก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ และฝุ่น PM2.5 ซึ่งเป็นมลพิษที่เกิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลโดยตรง สอดรับกับสมมุติฐานที่ว่า แหล่งกำเนิดมลพิษหลักของกรุงเทพฯ มาจากไอเสียรถยนต์ และมลพิษจากโรงงานอุตสาหกรรม เพราะผลพวงจากการระบาดของโคโรนาไวรัส และมาตรการปิดเมือง ทำให้โรงงานอุตสาหกรรมจำนวนมากปรับลดกำลังผลิตลงในช่วงนี้ และยังส่งผลให้ปริมาณการสัญจรในกรุงเทพฯ เบาบางลงอย่างมาก” ธารา กล่าว
“ปรากฎการณ์นี้เป็นสิ่งยืนยันอย่างชัดเจนว่า แนวทางการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศที่เราเคยเสนอหลายต่อหลายครั้งในช่วงวิกฤตมลพิษฝุ่นในกรุงเทพฯ ช่วงที่ผ่านมา โดยการลดการสัญจรโดยรถยนต์ส่วนบุคคล และหันมาทำงานจากบ้านมากขึ้น สามารถช่วยลดการก่อมลพิษ และฟื้นฟูคุณภาพอากาศได้อย่างมีประสิทธิภาพ”
เขากล่าวว่า ผลจากการบังคับใช้มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัส และการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของคนเมืองในช่วงวิกฤตไวรัส COVID-19 เช่น การลดการเดินทางที่ไม่จำเป็น การทำงานจากที่บ้าน สามารถช่วยลดการระบาดของไวรัส COVID-19 และยังช่วยลดมลพิษไนโตรเจนไดออกไซด์ และฝุ่น PM2.5 ในเมืองหลวงให้ดีขึ้นมาก ชี้ให้เห็นว่าหากภาครัฐและภาคประชาชนร่วมมือกันดำเนินมาตรการแก้ปัญหาอย่างจริงจัง ปัญหามลพิษฝุ่นควันเรื้อรังในกรุงเทพมหานครก็สามารถจัดการได้เช่นกัน
อนึ่ง จากรายงานการวิเคราะห์แหล่งกําเนิดของไนโตรเจนไดออกไซด์ในประเทศไทยจากข้อมูลดาวเทียม ของกรีนพีซ ที่เผยแพร่เมื่อ เดือนสิงหาคม พ.ศ.2562 ระบุว่า ประชาชนในหลายภูมิภาคของประเทศไทยประสบภัยเงียบจากปัญหามลพิษก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ จากการปล่อยไอเสียรถยนต์ และการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล เพื่อการผลิตกระแสไฟฟ้าและอุตสาหกรรม
ซึ่งการวิเคราะห์ข้อมูลจากภาพถ่ายดาวเทียม Sentinel 5P เผยว่า กรุงเทพมหานครและปริมณฑล เป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากมลพิษก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์หนักที่สุด อันมีที่มาจากไอเสียจากการจราจรที่หนาแน่นในพื้นที่
รายงานกรีนพีชยังเผยว่า ไนโตรเจนไดออกไซด์ (NO2) และออกไซด์ของไนโตรเจน (NOx) ถือเป็นภัยต่อสุขภาพของประชาชนอย่างร้ายแรง เป็นสาเหตุของโรคทางเดินหายใจและความเสียหายต่อปอดหากรับเข้าไปแบบเฉียบพลัน เพิ่มความเสี่ยงของการเป็นโรคเรื้อรังหากรับเข้าไปในระยะยาว และอาจนำไปสู่การเสียชีวิตก่อนวัยอันควรจากโรคทางเดินหายใจและโรคหัวใจ
นอกจากนี้ NO2 และ NOx ในบรรยากาศนำไปสู่การก่อตัวของ PM2.5 และโอโซน ซึ่งต่างก็เป็นมลพิษทางอากาศที่เป็นภัยคุกคามด้านสุขภาพของประชาชนทั่วโลก