27 เมษายน 2565 “ไฟไหม้บ่อขยะ” ภัยร้ายประจำฤดูร้อน

ที่มา: https://www.tnnthailand.com/news/earth/112180/
ปัจจุบันนี้ในประเทศไทยมีบ่อขยะที่มีขยะตกค้างรอการกำจัดอย่างไม่ถูกสุขลักษณะอีกจำนวนไม่ต่ำกว่า 1,700 แห่ง และที่ผ่านมาในปีนี้พบว่า บ่อขยะเกิดไฟไหม้แล้วไม่ต่ำกว่า 20 แห่ง จากการศึกษาพบว่า กองขยะนั้นสามารถติดไฟได้เอง เพราะทุกที่มีขยะที่สามารถติดไฟได้เป็นจำนวนมาก เช่น เศษพลาสติก เศษไม้ เศษผ้า ขยะเคมี รวมไปถึงเศษอาหารต่าง ๆ เมื่อขยะทั้งหมดถูกฝังกลบลึกลงไปประมาณ 5 ม. สารอินทรีย์เหล่านี้จะถูกย่อยสลายแบบไร้ออกซิเจนโดยแบคทีเรียและจุลินทรีย์ ทำให้เกิดก๊าซต่าง ๆ เช่น ก๊าซมีเทน ก๊าซไข่เน่า เป็นต้น ซึ่งสามารถติดไฟได้ โดยเฉพาะในฤดูร้อน ก๊าซที่เกิดขึ้นจากการย่อยสลายนั้นจะมีอุณหภูมิสูงขึ้น ทำให้เกิดการคายความร้อนออกมา ทำให้ขยะที่อยู่ด้านบนติดไฟได้ง่ายขึ้น หรือขยะเคมีที่ถูกฝังกลบแล้วทำปฏิกิริยาเคมีที่ติดไฟได้ เมื่อเจอกับก๊าซออกซิเจนด้านบนกองขยะจึงเกิดเป็นเพลิงไหม้ขึ้น ผลกระทบที่ตามมานั้นจะก่อให้เกิดฝุ่น PM 2.5 และสารก่อมะเร็งมากมาย ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนบริเวณนั้นเมื่อต้องสูดดมเข้าไป รวมถึงยังส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทำให้คุณภาพอากาศแย่ รวมถึงน้ำเสียที่เกิดจากการดับไฟที่ปนเปื้อนสารเคมีก็ยังไหลลงสู่แหล่งน้ำสาธารณะอีกด้วย วิธีเฝ้าระวัง คือ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องหมั่นพลิกกองขยะกลับไปกลับมาอยู่เสมอ ควบคู่ไปกับการฉีดพ่นน้ำแบบละอองฝอยเหนือกองขยะโดยเฉพาะช่วงที่อากาศร้อนจัด ที่สำคัญไม่ควรกำจัดขยะแบบเทกอง แต่ควรจัดการขยะโดยการฝังกลบให้ถูกต้องตามหลักสุขาภิบาล และนำก๊าซมีเทนกับก๊าซไข่เน่าระบายสู่บรรยากาศไม่ให้สะสมในกองขยะเพราะจะก่อให้เกิดปฏิกิริยาที่เป็นต้นเหตุไปสู่ปัญหาไฟไหม้ได้