24 ตุลาคม 2567 นนทบุรี ปราบปลาหมอคางดำ ปล่อยปลานักล่าฟื้นระบบนิเวศ

ที่มา: https://www.bangkokbiznews.com/business/economic/1150261
จังหวัดนนทบุรี และกรมประมงบูรณาการความร่วมมือภาครัฐ เอกชน และชุมชน เดินหน้ากำจัดปลาหมอคางดำอย่างเข้มแข็ง สนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนช่วยกันจับขึ้นมาปรุงเป็นมื้ออาหารทุกวัน ตามแนวทางมาตรการในการแก้ไขในระยะเร่งด่วน ได้แก่ 1. การควบคุมและกำจัดในทุกแหล่งน้ำที่พบการระบาด 2. การปล่อยปลานักล่า อาทิ ปลากะพงขาว ปลาอีกง ปลาช่อน ปลากราย เป็นต้น 3. การนำปลาหมอคางดำออกจากระบบนิเวศไปใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด 4. การสำรวจและเฝ้าระวังการแพร่กระจายในแหล่งน้ำธรรมชาติ และ 5. การประชาสัมพันธ์สร้างความตระหนักรู้ให้กับทุกภาคส่วน
นางระวีพรรณ แก้วเพียวเพ็ญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรี กล่าวว่า จังหวัดนนทบุรีให้ความสำคัญกับการควบคุมและกำจัดปลาหมอคางดำอย่างเข้มข้น โดยอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนทั้งหน่วยงานภาครัฐ องค์กรปกครองท้องถิ่น ภาคเอกชน ได้แก่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ผู้นำชุมชน และชาวบ้าน เพื่อควบคุมและกำจัดปลาหมอคางดำในทุกลำคลอง
เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2567 จังหวัดนนทบุรีจัดกิจกรรม “ปล่อยปลานักล่า (ปลากินเนื้อ)” ปล่อยปลานักล่ารวม 58,000 ตัวลงสู่คลองบางคูเวียง ในอำเภอบางกรวย เพื่อควบคุมปลาหมอคางดำ ซึ่งเป็นการจัดกิจกรรมปล่อยปลานักล่าครั้งที่สอง หลังจากเคยจัดกิจกรรมปล่อยปลานักล่าครั้งแรก จำนวน 70,000 ตัวในคลองปลายบางเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ซึ่งนางระวีพรรณ กล่าวอีกว่า การกำจัดและควบคุมปลาหมอคางดำในลำคลองจังหวัดนนทบุรี ไม่เพียงช่วยรักษาระบบนิเวศในลำคลองของจังหวัดนนทบุรี แต่ยังช่วยหยุดยั้งการแพร่กระจายของปลาหมอคางดำไปในพื้นที่กรุงเทพมหานครและจังหวัดใกล้เคียง ได้แก่ ปทุมธานี นครปฐม พระนครศรีอยุธยา ที่มีลำคลองเชื่อมต่อกับจังหวัดนนทบุรีอีกด้วย