23 พฤษภาคม 2563 ดินยุบเป็นหลุมยักษ์หน้ามหาวิหาร กรุงโรม เผยถนนลาดหินโบราณ

ที่มา : https://www.khaosod.co.th/around-the-world-news/news_4181438
เดลีเมล์ รายงานการค้นพบทางโบราณคดีอย่างไม่คาดคิด เมื่อเกิดเหตุหลุบยุบในกรุงโรม เมืองหลวงของอิตาลี เผยให้เห็นถนนโบราณหน้ามหาวิหารแพนธีออนที่สร้างก่อนเริ่มคริสตศักราช 27 ปี
เหตุเกิดบนถนนที่ปูลาดด้วยหินหน้าบริเวณจัตุรัสเปียซซาเดลลาโรทอนดา ใกล้กับบันไดทางขึ้นมหาวิหารแพนธีออน จู่ๆ ก็เกิดหลุมยุบขนาดใหญ่ขึ้น แต่โชคดีที่สถานที่สาธารณะปิดอยู่ จึงไม่มีผู้ใด้รับบาดเจ็บ หากเป็นฤดูกาลท่องเที่ยวปกติ อาจมีผู้บาดเจ็บและเกิดความเสียหายมากกว่านี้
เจ้าหน้าที่กรุงโรมทราบข้อมูลจากรายงานของพิพิธภัณฑสมิธโซเนียนว่า สมัยโบราณเคยมีถนนหินอยู่ใต้ดิน แต่ไม่อยากให้เกิดโครงการขุดค้นใหญ่โตนักเพราะเกรงว่าจะกระทบกับโบราณวัตถุ
สำหรับทางลาดด้วยหินโบราณ เคยเป็นถนนรอบมหาวิหารแพนธีออน แต่ต่อมาถูกทับถมด้วยชั้นถนนหลายๆ ชั้น ส่วนถนนปูหินแทบไม่ได้รับการอนุรักษ์ เพราะส่วนใหญ่ถูกคลุมด้วยปอซโซลาน หรือวัสดุที่ประกอบด้วยซิลิคอนไดออกไซด์และดูดซับความชื้นซึ่งช่วยไม่ให้ผุพัง
อดีต ถนนปูด้วยหินทราเวอร์ไทน์ เช่น หินชนวน ซึ่งเป็นวัสดุที่ใช้สร้างโคลอสเซียมและประตูชัยเพราะมีแหล่งหินอยู่นอกเมือง
เหตุหลุมยุบในกรุงโรมเกิดขึ้นเป็นประจำ เนื่องจากดินทรายยุบตัวลงและชั้นดินเก่าสึกกร่อนเพราะมีอาคารสมัยใหม่สร้างทับอยู่ข้างบนทำให้ชิ้นดินอ่อนลง โดยเฉพาะทางตะวันออกของกรุงโรม เมื่อปี 2562 เกิดหลุมยุบกว่า 100 แห่ง และเมื่อปี 2561 เกิดหลุมยุบ 175 แห่ง
ปี 2561 กรุงโรมอนุมัติงบประมาณ 18.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 595 ล้านบาท เพื่อลดจำนวนหลุมยุบทั่วเมืองซึ่งส่วนใหญ่เกิดเป็นหลุมเป็นบ่อมากกว่าโบราณสถาน
มหาวิหารแพนธีออน สร้างขึ้นมาเพื่อบูชาเทพเจ้าเพราะแพนธีออน มีความหมายว่า “พระเจ้าทั้งหมด” เป็นวิหารที่สร้างทับวิหารเดิมที่จักรพรรดิออกัสตัส ซึ่งเป็นจักรพรรดิองค์แรกของโรมันทรงสร้างขึ้น 27 ปีก่อนคริสตศักราชแต่ต่อมาถูกไฟไหม้เสียหาย
สถาปัตยกรรมโดดเด่นด้วยหลังคาทรงโดมเหนือห้องโถงขนาดใหญ่ที่มีช่องทำให้แสงอาทิตย์ลอดผ่านเข้ามาถึงจุดสูงสุดของโดมได้ แต่ยังไม่ทราบสาเหตุที่สถาปนิกโบราณเจาะช่องไว้ สันนิษฐานว่าทำไว้เพื่อระบายความร้อน
ทั้งนี้ โบราณสถานยุคโรมันในกรุงโรม ดึงดูดนักท่องเที่ยวจำนวนมากให้มาชมเป็นประจำทุกปี