19 พฤษภาคม 2563 ลูกช้างป่าพลัดหลงอาการดีขึ้น เตรียมแผนปล่อยเข้าฝูง

ที่มา: https://news.thaipbs.or.th/content/292618
นายธนิตย์ หนูยิ้ม ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ ๑๒ เปิดเผยความคืบหน้าในการดูและการเตรียมความพร้อมในการปล่อยลูกช้างป่าพลัดหลงว่า นายไพโรจน์ พรมวัฒ นายสัตว์แพทย์ประจำสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ทำแผลที่ขาลูกช้างป่า ๒ รอบ โดยรอบเช้าทำความสะอาดแผล พร้อมทั้งนำดินออกจากแผลแล้วล้างแผลด้วยน้ำเกลือ จากนั้นใช้คลอร์เฮกซิดีนสครับแผลแล้วล้างออก ใส่ยาเร่งเนื้อและฉีดสเปรย์ฆ่าเชื้อ ส่วนรอบเย็นใช้น้ำเกลือผสมเบตาดีนฉีดล้างแผล ขัดดินในแผลออกอีกรอบแล้วใส่ยาเร่งเนื้อและฉีดสเปรย์ฆ่าเชื้อ นอกจากนี้ ระหว่างวันใช้เบตาดีนพ่นขณะป้อนนมทุกรอบ วัดอุณหภูมิรอบเช้าอยู่ที่ ๓๗.๒ องศาเซลเซียส รอบเย็น ๓๗.๐ องศาเซลเซียส บริเวณแผลเป็นเนื้อสีชมพู ขอบแผลมีการสร้างเนื้อเยื่อใหม่ขึ้นมาทดแทน แผลมีขนาดเล็กลง กินนมและอาหารได้ตามปกติ โดยรวมอาการทั่วไปของลูกช้างยังปกติ แผลน่าจะหายเป็นปกติก่อนสิ้นเดือน พ.ค.
การปล่อยคืนป่ามอบหมายให้หัวหน้าสถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ หัวหน้าสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง และหัวหน้าศูนย์ศึกษาการพัฒนาการจัดการเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าที่ ๑ (ภาคกลาง) วางแผนและดำเนินการปฎิบัติงานตามหาแม่ช้าง และค้นหาจุดเตรียมปล่อยลูกช้างคืนป่าตามคำแนะนำของ ดร. ศุภกิจ พินิจพรสวรรค์ ผอ. ส่วนสารสนเทศด้านอนุรักษ์สัตว์ป่า ทั้งนี้ สถานีเพาะเลี้ยงฯ ร่วมกับทีมงานสัตวแพทย์ เร่งรักษาบาดแผลที่ข้อเท้าข้างหน้าซ้าย ดูแลเรื่องสุขภาพ และความสมบูรณ์ของร่างกายลูกช้างป่าก่อนปล่อยโดยเร็ว และให้สถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ ติดตั้งกล้องดักถ่ายภาพตามแหล่งน้ำในพื้นที่ เพื่อติดตามกลุ่มของฝูงช้างที่คาดว่าเป็นฝูงช้างแม่ของลูกช้างพลัดหลง เพื่อนำข้อมูลมาวางแผนค้นหาจุดที่เหมาะสมที่สุดในการจะปล่อยช้างคืนฝูงในป่า โดยให้หัวหน้าศูนย์ศึกษาการพัฒนาการจัดการเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าที่ ๑ (ภาคกลาง) ร่วมสนับสนุนและดำเนินการ และให้เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง สั่งเจ้าหน้าที่เดินเท้าลาดตระเวนสนับสนุนงานของสถานีวิจัยเขานางรำในการค้นหาฝูงแม่ช้างด้วย สำหรับการติดตามเจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการตามหาแม่ช้างมาอย่างต่อเนื่อง ด้วยการใช้กล้องแอบถ่าย และเดินลาดตระเวนติดตามฝูงช้างตามหาแม่ช้างคู่ขนานไปกับการรักษาแผล เมื่อได้จุดเตรียมปล่อยที่เหมาะสมที่สุดแล้ว จะเร่งสร้างคอกชั่วคราวเตรียมปล่อย โดยสัตวแพทย์ต้องตรวจรับรองว่าสุขภาพลูกช้างพร้อมจึงจะปล่อยคืนป่าต่อไป