19 ธันวาคม 2562 รายงานพิเศษ : อุโมงค์ผันน้ำ…อีกศาสตร์พระราชาแก้ปัญหาภัยแล้ง

ที่มา: https://www.naewna.com/local/461083
โครงการอุโมงค์ผันน้ำลำพะยังภูมิพัฒน์ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลสงเปลือย อำเภอเขาวง จังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นอีก “ศาสตร์พระราชา” ที่กรมชลประทานได้สืบสาน ต่อยอด และขยายผลใช้แก้ปัญหาขาดแคลนน้ำในพื้นที่ต่าง ๆ ของประเทศ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรที่อำเภอเขาวง จังหวัดกาฬสินธุ์ เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2535 ได้ทอดพระเนตรสภาพภูมิประเทศลำพะยัง ที่บ้านกุดตอแก่น รวมถึงสภาพความยากลำบากของราษฎร และการขาดแคลนน้ำ เนื่องจากขาดระบบชลประทาน จึงพระราชทานแนวพระราชดำริให้กรมชลประทานพิจารณาดำเนินการพัฒนาลุ่มน้ำลำพะยังตอนบน กรมชลประทานได้น้อมนำแนวพระราชดำริดังกล่าวมาดำเนินโครงการพัฒนาลุ่มน้ำลำพะยังตอนบน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยดำเนินงานหลักๆ 2 ส่วน คือ ส่วนแรก เป็นการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำลำพะยังตอนบน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ บ้านนาวี ตำบลสงเปลือย อำเภอเขาวง จังหวัดกาฬสินธุ์ เริ่มก่อสร้างปี 2537 แล้วเสร็จในปี 2538 ซึ่งเดิมสามารถกักเก็บน้ำมีความจุ 3.50 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ก่อนจะปรับปรุงขยายเพิ่มเป็น 4.00 ล้าน ลบ.ม. ในปี 2543 มีพื้นที่เกษตรกรรมได้รับประโยชน์ประมาณ 4,600 ไร่ และส่วนที่ 2 เป็นการก่อสร้าง อุโมงค์ผันน้ำลำพะยังภูมิพัฒน์ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ครอบคลุมพื้นที่ 2 จังหวัด คือ จังหวัดกาฬสินธุ์ และมุกดาหาร โดยเริ่มก่อสร้างในปี 2546 แล้วเสร็จในปี 2549 ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า โครงการอุโมงค์ผันน้ำลำพะยังภูมิพัฒน์ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นศาสตร์บริหารจัดการน้ำโดยผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำห้วยไผ่ อำเภอดงหลวง จังหวัดมุกดาหาร ซึ่งมีปริมาณน้ำมาก มายังอ่างเก็บน้ำลำพะยังตอนบน อำเภอเขาวง จังหวัดกาฬสินธุ์ ซึ่งมีปริมาณน้ำน้อย จากนั้นก็กระจายน้ำให้พื้นที่การเกษตรของลุ่มน้ำลำพะยังตอนบน สร้างประโยชน์ครอบคลุมพื้นที่ในเขตอำเภอเขาวงมากถึงประมาณ 12,000 ไร่ และยังทำให้ข้าวมีผลผลิตเพิ่มมากขึ้นถึง 2-3 เท่า นับเป็นความสำเร็จจากอุโมงค์ผันน้ำที่มาจากพระอัจฉริยภาพของในหลวง รัชกาลที่ 9 ในด้านบริหารจัดการน้ำ อันสอดรับกับคำว่า “ลำพะยังภูมิพัฒน์” ซึ่งหมายถึง “อุโมงค์ผันน้ำที่นำความเจริญมาสู่แผ่นดินลุ่มน้ำลำพะยัง” จากศาสตร์พระราชาด้วยการสร้างอุโมงค์ผันน้ำดังกล่าว กรมนำมาต่อยอดขยายผลแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่และพื้นที่ใกล้เคียง โดยดำเนิน “โครงการเพิ่มปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธารา” จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งอยู่ระหว่างก่อสร้าง ซึ่งโครงการนี้เป็นการพัฒนาลุ่มน้ำปิงตอนบนซึ่งมีลุ่มน้ำสาขาสำคัญ ๆ 3 ลุ่มน้ำคือ ลุ่มน้ำแม่กวง ลุ่มน้ำแม่งัด และลุ่มน้ำแม่แตง ด้วยการเจาะอุโมงค์ส่งน้ำเพื่อส่งน้ำจากลำน้ำแม่แตง ในส่วนที่เกินความต้องการช่วงฤดูฝน ระหว่างเดือนกรกฎาคมถึงพฤศจิกายน ประมาณ 113 ล้านลบ.ม. ต่อปี ไปยังอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล และผันน้ำส่วนเกินของอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล ประมาณ 47 ล้านลบ.ม. ต่อปี ผ่านอุโมงค์ส่งน้ำไปยังอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธารา รวมปริมาณน้ำที่ผันประมาณ 160 ล้านลบ.ม. ต่อปี ซึ่งจะเพียงพอกับความต้องการ นอกจากนี้กรมชลประทานยังจะดำเนินโครงการส่งน้ำจากอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล กลับไปยังระบบส่งน้ำของโครงการส่งน้ำ และบำรุงรักษาแม่แตง เพื่อสนับสนุนให้พื้นที่การเกษตรในลุ่มน้ำแม่แตงในฤดูแล้งประมาณ 25 ล้านลบ.ม. ต่อปีทำให้ประชาชนที่อยู่ทั้ง 3 ลุ่มน้ำย่อยของลุ่มน้ำปิง ได้รับประโยชน์จากโครงการนี้ ลุ่มน้ำเจ้าพระยาเป็นอีกลุ่มน้ำหนึ่งที่กรมชลประทานมีแผนที่จะนำศาสตร์พระราชาดังกล่าวมาแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำ โดยดำเนิน “โครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล” เพื่อแก้ไขและบรรเทาปัญหาขาดแคลนน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ขณะนี้อยู่ระหว่างศึกษาประเมินผลกระทบสิ่งแวล้อม(EIA) ซึ่งเขื่อนภูมิพล จังหวัดตาก เป็นแหล่งน้ำต้นทุนของลุ่มเจ้าพระยา มีความจุ 13,462 ล้าน ลบ.ม. แต่จากสภาพอากาศแปรปรวนทำให้ฝนตกท้ายเขื่อน น้ำไม่ไหลลงเขื่อน ทำให้เขื่อนภูมิพลยังเหลือช่องว่างเก็บน้ำได้อีกไม่น้อยกว่า 4,000 ล้านลบ.ม. ดังนั้นกรมเริ่มศึกษาโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพลดังกล่าว ซึ่งแนวทางเป็นไปได้มากที่สุดคือ การผันน้ำจากแม่น้ำยวม จังหวัดแม่ฮ่องสอน มากักเก็บไว้ที่เขื่อนภูมิพล โดยสร้างอุโมงค์ผันน้ำความยาวประมาณ 60 – 68 กิโลเมตร จากแม่น้ำยม มาลงแม่น้ำปิง บริเวณบ้านแม่งูด อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ จากนั้นให้ไหลตามแรงโน้มถ่วงโลกลงสู่เขื่อนภูมิพล “โครงการดังกล่าวหากทำสำเร็จจะสร้างความมั่นคงในเรื่องน้ำให้ลุ่มเจ้าพระยา แม้จะใช้เงินลงทุนสูงประมาณ 60,000 – 70,000 ล้านบาท แต่คุ้มค่าและมีผลกระทบน้อย โดยจะสร้างความมั่นคงให้น้ำเพื่ออุปโภคบริโภคอีกปีละ 300 ล้านลบ.ม. คิดเป็นมูลค่า 3,270 ล้านต่อปี ทำให้เปิดพื้นที่นาในเขตลุ่มเจ้าพระยาได้อีก 1.6 ล้านไร่ สนับสนุนน้ำการเกษตรในฤดูแล้งเพิ่มขึ้น 160,000 ไร่ คิดเป็นมูลค่าประมาณ 845 ล้านบาทต่อปี สิ่งสำคัญอีกส่วนหนึ่ง คือ ช่วยเพิ่มกำลังผลิตกระแสไฟฟ้าให้โรงไฟฟ้าท้ายเขื่อนภูมิพล อีกประมาณ 417 ล้านหน่วยต่อปี คิดเป็นมูลค่า 1,147 ล้านบาทต่อปี” ดร.ทองเปลว กล่าว อีกโครงการหนึ่งที่นำศาสตร์พระราชาในการสร้างอุโมงค์ผันน้ำฯไปปรับใช้คือ โครงการผันน้ำจากเขื่อนศรีนครินทร์ เพื่อบรรเทาปัญหาแล้งใน 5 อำเภอ ของจังหวัดกาญจบุรี ได้แก่ บ่อพลอย ห้วยกระเจา เลาขวัญ หนองปรือ และพนมทวน เป็นพื้นที่ประสบปัญหาภัยแล้งซ้ำซาก ถ้าผันน้ำจากเขื่อนศรีนครินทร์ ซึ่งมีปริมาณน้ำแต่ละปีค่อนข้างมากมาช่วยพื้นที่ดังกล่าวจะแก้ปัญหาภัยแล้งได้อย่างยั่งยืน อย่างไรก็ตามโครงการอยู่ระหว่างการศึกษาความเหมาะสมและประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) โดยสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ(สทนช.) “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” ปัญหาน้ำที่เกิดขึ้นก็สามารถแก้ไขได้อย่างยั่งยืนด้วย “ศาสตร์พระราชา”