18 กุมภาพันธ์ 2563 ผึ้งดึกดำบรรพ์อายุ 100 ล้านปีในอำพัน

ที่มา : https://www.thairath.co.th/news/foreign/1773856

เป็นที่รู้กันทั่วไปว่าแมลงผสมเกสรเป็นตัวช่วยในการขยายพันธุ์พืชดอกทั่วโลก แมลงตัวน้อยๆ เหล่านี้มีความสำคัญต่อระบบนิเวศในฐานะที่เป็นตัวสนับสนุนความหลากหลายทางชีวภาพ ผึ้งเป็นแมลงผสมเกสรเพียงกลุ่มเดียวที่กินน้ำหวาน และละอองเกสรตลอดวงจรชีวิตของมัน ผึ้งมีวิวัฒนาการมาจากแมลงในวงศ์ apoid wasps ซึ่งเป็นแมลงจำพวกผึ้ง เช่น ตัวต่อที่กินเนื้อเป็นอาหาร ทว่าการเปลี่ยนแปลงการกินอาหารของผึ้งยังไม่ชัดเจนนัก

เมื่อเร็วๆ นี้ มีการค้นพบซากดึกดำบรรพ์ หรือฟอสซิล (fossil) ผึ้งตัวเมียติดอยู่ในก้อนอำพันอายุ 100 ล้านปีในยุคครีเตเชียสที่ได้จากประเทศเมียนมา ซึ่งจอร์จ พอยนาร์ เจอาร์. นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยโอเรกอน ในประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ศึกษาฟอสซิลนี้พบว่า มันเป็นผึ้งสายพันธุ์ดั้งเดิม และระบุว่า นี่คือผึ้งชนิดใหม่มีชื่อว่า Discoscapa apicula อยู่ในสกุล Discoscapidae นอกจากนี้ ยังพบละอองเรณูและปรสิตหรือแมลงตัวเล็กๆ ที่เกาะติดอยู่บนตัวผึ้ง ลักษณะการเกาะติดของปรสิตแบบนี้ยังคงปรากฏในผึ้งยุคปัจจุบันเช่นกัน ปรสิตพวกนี้อาจก่อเกิดความผิดพลาดในการบินของผึ้ง

นักวิจัยอธิบายว่า ซากฟอสซิลนี้มีลักษณะร่วมกับผึ้งสมัยใหม่ ซึ่งข้อมูลฟอสซิลของผึ้งที่มีอยู่นั้นค่อนข้างกว้างขวาง ส่วนใหญ่มาจาก 65 ล้านปีที่แล้ว แต่การศึกษาฟอสซิล Discoscapa apicula อาจช่วยไขปริศนาการเปลี่ยนแปลงรูปแบบอาหารจากกินเนื้อมากินละอองเกสรได้ เพราะละอองเรณูจำนวนมากบนตัว Discoscapa apicula บ่งบอกว่าก่อนที่มันจะถูกขังในยางไม้จนกลายเป็นอำพัน ผึ้งได้บินไปที่ดอกไม้หนึ่งดอกหรือมากกว่านั้น

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้เพื่อปรับปรุงประสบการณ์ของคุณ เราจะถือว่าคุณรับได้กับเรื่องนี้ แต่คุณสามารถเลือกไม่รับได้หากต้องการ ยอมรับ อ่านเพิ่มเติม

Privacy & Cookies Policy