17 มกราคม 2563 โรงไฟฟ้าถ่านหิน : ประเทศเยอรมนีตั้งเป้าเลิกผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินในปี 2038

ที่มา: https://www.bbc.com/thai/international-51139110

รัฐบาลระดับประเทศและระดับรัฐของเยอรมนี เห็นชอบร่วมกันในการกำหนดแผนยุติการเดินเครื่องโรงไฟฟ้าถ่านหินทั้งหมดให้ได้ภายในปี 2038 แม้ว่ารัฐบาลจะต้องจ่ายเงินชดเชยแก่ผู้เกี่ยวข้องและลงทุนสร้างสาธารณูปโภคทดแทนจำนวน 4 หมื่นล้านยูโร (ราว 1.35 ล้านล้านบาท) ก็ตาม ปัจจุบันนี้ประเทศเยอรมนีมีกำลังแรงงานในภาคพลังงานหมุนเวียนมากกว่า 250,000 คน ซึ่งมากกว่าคนที่ทำงานในอุตสาหกรรมถ่านหินที่เป็นปัจจัยสำคัญที่ผลักดันให้เกิดภาวะโลกร้อน ทั้งนี้ เงินชดเชยจำนวน 4 หมื่นล้านยูโร นั้นจะต้องชำระให้กับรัฐบาลใน 4 รัฐของประเทศที่มีเหมืองแร่ลิกไนต์ และโรงไฟฟ้าถ่านหินตั้งอยู่ ได้แก่ ซัคเซิน-อันฮัลท์ (Saxony-Anhalt) ซัคเซิน (Saxony), นอร์ทไรน์-เว็สท์ฟาเลิน (North Rhine-Westphalia) และ บรันเดินบวร์ค (Brandenburg) เงินจำนวนดังกล่าวจะนำไปใช้ก่อสร้างสาธารณูปโภคใหม่ ๆ ที่ไม่ต้องพึ่งพิงถ่านหิน และยังใช้ในการฝึกอบรมคนที่จะไปทำงานด้วย สำหรับเหมืองแร่ และกิจการสาธารณูปโภคที่ต้องยุติการผลิตก็จะได้รับเงินชดเชยเช่นกัน ผู้สื่อข่าวรายงานว่ามีความกังวลกันว่าการปิดโรงไฟฟ้าถ่านหินโดยสิ้นเชิงนั้นอาจทำให้เกิดปัญหากระแสไฟฟ้าไม่เพียงพอ เพราะประเทศเยอรมนีก็จะทยอยปิดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทั้งหมดภายใน 2 ปีด้วย ในปัจจุบันประเทศเยอรมนีใช้พลังงานถ่านหินเป็นสัดส่วน 1 ใน 3 ของการผลิตไฟฟ้าทั้งหมด และกว่าครึ่งหนึ่งใช้ถ่านหินลิกไนต์เป็นเชื้อเพลิง โดยประเทศเยอรมนี เป็นประเทศผู้ผลิตแร่ลิกต์ไนต์รายใหญ่ที่สุดของโลก สำนักข่าวยูโรสแตท รายงานว่า เมื่อปี 2017 ประเทศเยอรมนี เป็นประเทศที่ใช้แร่ลิกไนต์เป็นสัดส่วนร้อยละ 44 ของทั้งสหภาพยุโรป รองลงมาคือ ประเทศโปแลนด์ ร้อยละ 16 ประเทศสาธารณรัฐเชคและกรีซ ร้อยละ 10 ประเทศบัลแกเรียร้อยละ 9 และประเทศโรมาเนีย ร้อยละ 7 โดยในปีดังกล่าวมีการขนส่งลิกไนต์จำนวน 359 ล้านตัน และถ่านหินแข็งอีก 150 ล้านตัน ไปยังโรงไฟฟ้าต่าง ๆ ทั่วอียู เพื่อใช้ผลิตกระแสไฟฟ้า และทำความร้อน ความพยายามลดการใช้ถ่านหิน เป็นส่วนหนึ่งของแผนลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศในอียู โดยสมาชิกทั้ง 28 ชาติ ตั้งเป้าจะดำเนินกิจกรรมที่จะทำให้การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2050 อย่างไรก็ดี ประเทศโปแลนด์ ซึ่งยังพึ่งพิงถ่านหินอยู่ ได้ขอยกเว้นไม่เข้าร่วมในเป้าหมายดังกล่าว ภายใต้ข้อตกลงปารีสที่ชาติต่าง ๆ เกือบ 200 ประเทศ ร่วมลงนามในปี 2015 ได้กำหนดมาตรการหลายอย่างเพื่อควบคุมการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หลังจากบรรดานักวิทยาศาสตร์ออกมาเตือนว่าอุณหภูมิของโลกไม่ควรปรับสูงขึ้นเกิน 2 องศาเซลเซียส

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้เพื่อปรับปรุงประสบการณ์ของคุณ เราจะถือว่าคุณรับได้กับเรื่องนี้ แต่คุณสามารถเลือกไม่รับได้หากต้องการ ยอมรับ อ่านเพิ่มเติม

Privacy & Cookies Policy