15 กรกฎาคม 2567 วิกฤตปลาต่างถิ่น “เอเลี่ยนสปีชีส์” ภัยคุกคามระบบนิเวศไทยที่ไม่ควรมองข้าม

ที่มา https://www.thansettakij.com/climatecenter/environment/601472
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยกำลังเผชิญกับปัญหาการแพร่ระบาดของ “ปลาหมอสีคางดำ” ซึ่งเป็นสัตว์น้ำต่างถิ่นที่กำลังสร้างความเสียหายต่อระบบนิเวศและวิถีชีวิตของชาวประมงไทยอย่างหนัก ปลาชนิดนี้ถูกจัดอยู่ในกลุ่ม “เอเลี่ยนสปีชีส์” หรือสิ่งมีชีวิตต่างถิ่นที่รุกราน ซึ่งกำลังเป็นปัญหาใหญ่ในหลายประเทศทั่วโลก
ปัจจุบันปลาหมอสีคางดำได้แพร่กระจายไปในแหล่งน้ำหลายพื้นที่ของไทย โดยเฉพาะในภาคใต้ เช่น จังหวัดสงขลาและนครศรีธรรมราช ส่งผลกระทบรุนแรงต่อระบบนิเวศและการประมงท้องถิ่น เนื่องจากนิสัยดุร้าย กินจุ และแย่งอาหารของปลาพื้นเมือง ทำให้ประชากรปลาท้องถิ่นลดลงอย่างรวดเร็ว
ปัจจุบัน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ออกประกาศห้ามนำเข้า เพาะเลี้ยง ปลาเอเลี่ยนสปีชีส์ 10 สายพันธุ์ รวมถึงสัตว์น้ำอื่นๆ อีก 3 ชนิด โดยไม่ได้รับอนุญาต ผู้ฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โดย 10 สายพันธุ์ปลาต้องห้ามได้แก่ ปลาหมอสีคางดำ (Blackchin Tilapia) ปลาหมอมายัน (Mayan Cichlid)
ปลาหมอบัตเตอร์ (Zebra Cichlid) ปลาทุกชนิดในสกุล Cichla และลูกผสม ปลาเทราท์สายรุ้ง (Rainbow Trout)
ปลาเทราท์สีน้ำตาล (Sea Trout)ปลากะพงปากกว้าง (Largemouth Black Bass) ปลาโกไลแอทไทเกอร์ฟิช (Goliath Tigerfish) ปลาเก๋าหยก (Jade Perch) และปลาที่มีการดัดแปลงหรือตัดแต่งพันธุกรรม (GMO, LMO) การแก้ปัญหา
เอเลี่ยนสปีชีส์จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน ในการป้องกันการแพร่ระบาด ควบคุมประชากร และฟื้นฟูระบบนิเวศที่ได้รับผลกระทบ เพื่อรักษาความสมดุลของธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศไทยให้คงอยู่อย่างยั่งยืน