14 ตุลาคม 2563 ระบุโมซาซอร์พันธุ์ใหม่อายุ ๗๒ – ๖๖ ล้านปี

ที่มา:

https://www.thairath.co.th/news/foreign/1951425

ปลาในท้องทะเลตัวจิ๊บตัวจ้อยเห็นเคลื่อนไหวปรู๊ดปร๊าด อาจคิดว่าพวกมันคงรักษาตัวรอดเป็นยอดดี แต่ปลาเหล่านี้ก็ไม่ได้ถูกละเว้นจากห่วงโซ่อาหาร เพราะถึงจะว่ายได้เร็วแค่ไหน ก็ไม่อาจหลบเลี่ยงนักล่าบางชนิดที่วิวัฒนาการมาเพื่อล่าและสร้างความหวาดกลัวให้แก่ปลาที่ว่ายได้ว่องไวเหล่านี้ นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยอัลเบอร์ตา ประเทศแคนาดาเผยว่า หนึ่งในสัตว์ทางทะเลยุคโบราณที่สามารถปราบเจ้าปลาที่ว่ายได้รวดเร็วก็คือ โมซาซอร์ (Mosasaur) ที่เชื่อว่ามีวิวัฒนาการมาจากสัตว์กลุ่มกิ้งก่าและงู อาศัยอยู่ช่วงปลายยุคครีเตเชียส แต่โมซาซอร์ที่สุดสะพรึงของเหล่าปลา ก็คือโมซาซอร์สายพันธุ์ใหม่ชื่อว่า Gavialimimus almaghribensis มีจมูกยาวแคบ และฟันที่สบกันคล้ายกับกาเรียล (gharials) ที่เป็นจระเข้ขนาดใหญ่ชนิดหนึ่ง โมซาซอร์จำนวนไม่น้อยมีขนาดยาวถึง ๑๗ ม. คล้ายมังกรโคโมโด เคยปกครองสภาพแวดล้อมทางทะเลซึ่งในปัจจุบันคือ ประเทศโมร็อกโกปลายยุคครีเตเชียสเมื่อ ๗๒ – ๖๖ ล้านปีก่อน ซึ่งโมซาซอร์พันธุ์ใหม่นี้จะช่วยเพิ่มความชัดเจนถึงความหลากหลายในอดีตที่แออัดไปด้วยสัตว์นักล่าขนาดใหญ่ที่แข่งขันแย่งชิงอาหาร ยึดพื้นที่และทรัพยากร จมูกยาวของโมซาซอร์สะท้อนถึงแนวโน้มการปรับตัวให้เข้ากับรูปแบบการล่าเหยื่อ หรือแบ่งแหล่งอาหารภายในระบบนิเวศที่ใหญ่กว่านี้ มีหลักฐานว่าโมซาซอร์แต่ละสายพันธุ์แสดงการดัดแปลงรูปแบบการล่าเหยื่อ ซึ่งจมูกที่ยาวมากและการสบฟันกันแน่นของ Gavialimimus almaghribensis ช่วยให้ตั้งสมมติฐานได้ว่าไว้ใช้จับเหยื่อที่เคลื่อนไหวอย่างรวดเร็วได้นั่นเอง

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้เพื่อปรับปรุงประสบการณ์ของคุณ เราจะถือว่าคุณรับได้กับเรื่องนี้ แต่คุณสามารถเลือกไม่รับได้หากต้องการ ยอมรับ อ่านเพิ่มเติม

Privacy & Cookies Policy