12 มกราคม 2566 สำรวจพบคนรุ่นใหม่ พร้อมจ่ายซื้อสินค้ารักษ์โลก แต่ราคาต้องเข้าถึงได้

ที่มา : https://www.thaipost.net/news-update/299995/
ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่แต่ก่อนเคยเป็นเรื่องไกลตัว แต่ปัจจุบันกลับเป็นสิ่งที่พบเห็นได้บ่อยและส่งผลกระทบอย่างมากต่อผู้คนบนโลก ทั้งสภาพอากาศที่แปรปรวน ระบบนิเวศและการอยู่อาศัยของผู้คนการแพร่กระจายของฝุ่น PM 2.5 และอื่นๆ อีกมากมาย ปัญหาเหล่านี้ ทำให้คนบนโลกตื่นตัว และมีผลการเปลี่ยนพฤติกรรมการรักษ์โลกในแง่มุมต่างๆ มากขึ้น ขณะที่ ในระดับเวทีโลก รวมถึงประเทศไทย ได้ตั้งเป้าบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี พ.ศ. 2608 ส่วนภาคเอกชนหลายองค์กรหันมาปรับเปลี่ยนสินค้าและบริการให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น แต่ถึงกระนั้น ก็ยังมีอีกหลายองค์กรที่ขยับตัวช้า เพราะคิดว่าผู้บริโภคส่วนใหญ่ยังคงมองข้ามประเด็นผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) จึงจับมือกับบริษัท เอบีเอ็ม คอนเนค จำกัด ดิจิทัลพีอาร์เอเจนซี่ชั้นนำของประเทศไทย ร่วมกันจัดทำการวิจัยเพื่อศึกษาการรับรู้ และแนวโน้มพฤติกรรมการใช้สินค้ารักษ์โลก (green product) ของกลุ่มคนรุ่นใหม่ โดยใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงปริมาณ ผ่านการจัดทำแบบสอบถามออนไลน์จากกลุ่มตัวอย่าง 601 คน ครอบคลุมผู้บริโภคทุกเพศจากทั่วทุกภูมิภาคในประเทศไทย ซึ่งมีอายุระหว่าง 18-50 ปี โดยสัดส่วน 21.1% เป็น Gen X (อายุ 42-50 ปี) 32.1% Gen Y (อายุ 26-41 ปี) และ Gen Z (อายุ 18-25 ปี) 49.1% ประกอบกับการวิจัยเชิงคุณภาพผ่านการสนทนากลุ่มจำนวน 8 คน ที่มีอายุระหว่าง 18-41ปี เพื่อเก็บข้อมูลพฤติกรรมและมุมมองของผู้บริโภคคนรุ่นใหม่ ที่มีต่อการดูแลสิ่งแวดล้อมอย่างไร เปิดรับสินค้ารักษ์โลกมากน้อยแค่ไหน และกำลังมองหาอะไรในสินค้ารักษ์โลก ซึ่งจะนำไปสู่การสื่อสารสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง ตลอดจนการขยายไลน์สินค้าในราคาที่เหมาะสม สอดรับกับความต้องการของผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมายได้ตรงใจยิ่งขึ้น
จากข้อมูลวิจัยพบว่า ลักษณะสินค้ารักษ์โลกที่คนรุ่นใหม่สนใจเป็นสินค้ากลุ่มผลิตภัณฑ์ดูแลส่วนบุคคล (personal care) และผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในครัวเรือน (household product) ซึ่งกลุ่มผลิตภัณฑ์ดูแลส่วนบุคคล ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิวหน้า ผิวกาย และหนังศีรษะ ส่วนกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในครัวเรือน ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ซักผ้า ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดอเนกประสงค์ รวมถึงผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดพื้น โดยราคาของสินค้าควรอยู่ในช่วงราคา 100-200 บาท หรือมีราคาไม่สูงกว่าสินค้าทั่วไป (non-green product) เกินกว่า 100 บาท แสดงให้เห็นว่าคนรุ่นใหม่สนใจและยินดีซื้อผลิตภัณฑ์รักษ์โลกมาใช้ หากอยู่ในช่วงราคาที่ย่อมเยาจับต้องได้ และมีราคาใกล้เคียงกับสินค้าโดยทั่วไปที่ไม่ใช่ผลิตภัณฑ์รักษ์โลก
นอกจากนี้ ผลวิจัยยังชี้ให้เห็นอีกว่าสินค้ารักษ์โลกที่โดนใจ ต้องปลอดภัย ใช้สะดวก และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมคนรุ่นใหม่คาดหวังว่าสินค้ารักษ์โลกส่วนใหญ่ควรมีบรรจุภัณฑ์ที่ผลิตจากพลาสติกที่ย่อยสลายได้ เป็นบรรจุภัณฑ์ที่สามารถนำไปเติมได้ (refill) สกัดหรือมีส่วนผสมจากธรรมชาติ ต้องมีการแสดงวันหมดอายุ แสดงส่วนผสมบนผลิตภัณฑ์อย่างชัดเจน ได้รับการรับรองจากหน่วยงานที่น่าเชื่อถือ มีบรรจุภัณฑ์ที่สะดวกต่อการใช้งาน มีราคาที่เหมาะสมกับปริมาณ คุณสมบัติและราคาเหมาะสมเมื่อเทียบกับสินค้าทั่วไป (non-green product) ซื้อหาง่ายผ่านช่องทางออนไลน์ หรือร้านสะดวกซื้อ ขณะที่การสื่อสารการตลาดสำหรับสินค้ารักษ์โลก คนรุ่นใหม่เชื่อถือการใช้ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านในการประชาสัมพันธ์ และตอบสนองต่อกิจกรรมส่งเสริมการตลาด เช่น การใช้คูปองส่วนลด และการมีส่วนร่วมในการบริจาค