12 พฤษภาคม 2563 กายวิภาคที่เปลี่ยนแนวคิดเรื่องไดโนเสาร์

ที่มา: https://www.thairath.co.th/news/foreign/1841583
สไปโนซอรัส (Spinosaurus) เป็นสัตว์เลื้อยคลานกินเนื้อ มีแผงกระโดง เดินด้วย ๔ ขา ส่วนกะโหลกมีจะงอยปากแคบๆ ฟันรูปกรวย เหนือดวงตามีหงอนคู่ มักจะจับปลากิน พวกมันมีชีวิตอยู่ในช่วงกลางยุคครีเตเชียสเมื่อเกือบ ๑๐๐ ล้านปีที่แล้ว ก่อนหน้านี้มีนักวิจัยเสนอทฤษฎีว่า สไปโนซอรัสน่าจะอาศัยอยู่ในแหล่งน้ำ เนื่องจากเท้าเป็นพังผืดคล้ายตีนเป็ด ไม่เหมาะไล่จับเหยื่อบนบก แต่ก็มีนักวิจัยต่อต้านแนวคิดนี้ล่าสุด ทีมนักวิจัยนานาชาติ นำโดย ศ. นิซาร์ อิบราฮัม จากมหาวิทยาลัยดีทรอยต์ เมอร์ซี ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้รับการสนับสนุนจาก National Geographic Society เผยว่า พบหลักฐานที่ชัดเจนจากการตรวจสอบซากโครงกระดูกสไปโนซอรัส อีจิปเทียคัส (Spinosaurus Aegyptiacus) ไดโนเสาร์กินเนื้อที่พบในภูมิภาคเคม เคม (Kem Kem) ในประเทศโมร็อกโก รวมถึงฟอสซิลอีกจำนวนมาก โดยเฉพาะฟอสซิลหางคล้ายครีบที่สมบูรณ์ ทีมวิจัยจากฮาร์วาร์ดจึงสร้างแบบจำลองที่ยืดหยุ่นด้วยระบบหุ่นยนต์เลียนแบบการเคลื่อนไหวในน้ำ และเปรียบเทียบประสิทธิภาพการว่ายน้ำของหางสไปโนซอรัส กับจระเข้ ตัวนิวต์ สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก และไดโนเสาร์อื่นๆ ผลลัพธ์ที่ได้มีความสอดคล้องกับแนวคิดเรื่องสัตว์ประหลาดที่อยู่ในแหล่งน้ำ การค้นพบชี้ให้เห็นว่า ไดโนเสาร์ที่ไม่ใช่นกสามารถบุกเข้าไปในน้ำ และไดโนเสาร์ชนิดนี้ไล่ล่าเหยื่อในน้ำที่ไม่ใช่แค่น้ำตื้นๆ แต่มันอาจใช้เวลาส่วนใหญ่ในน้ำได้ดี ซึ่งจะเปลี่ยนความเข้าใจและความคิดเกี่ยวกับไดโนเสาร์ในปัจจุบัน