11 ธันวาคม 2564 เปิดแผนอนุรักษ์สัตว์ทะเลฯ

ที่มา : https://mgronline.com/daily/detail/9640000122194
กรมประมง ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการนโยบายประมงแห่งชาติเปิดเผยความคืบหน้าของรัฐบาลไทยต่อกรณีสหรัฐฯ ประกาศข้อกำหนดว่าด้วยการนำเข้าสินค้าประมงภายใต้กฎหมาย MMPA โดยที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติ ครั้งที่ 5/2564 ได้มีมติเห็นชอบในหลักการของแผนปฏิบัติการระดับชาติเพื่อการอนุรักษ์และบริหารจัดการสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนม พ.ศ. 2566 – 2570 และโครงการเร่งด่วนเพื่อการอนุรักษ์และบริหารจัดการสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนม พ.ศ. 2564-2565
สำหรับแผนปฏิบัติการระดับชาติเพื่อการอนุรักษ์และบริหารจัดการสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนม พ.ศ. 2566– 2570 ประกอบด้วย 5 กลยุทธ์ 19 แผนงาน 51 โครงการ ดังนี้ กลยุทธ์ที่ 1 การติดตามและประเมิน (Monitoring & Estimation) ประกอบด้วย 2 แผนงาน 8 โครงการ กลยุทธ์ที่ 2 การวิจัยและพัฒนา (Research & Development) ประกอบด้วย 5 แผนงาน 11 โครงการ กลยุทธ์ที่ 3 การอนุรักษ์และจัดการ (Conservation & Management) ประกอบด้วย 6 แผนงาน 11 โครงการ กลยุทธ์ที่ 4 การบังคับใช้ (Enforcement) ประกอบด้วย 3 แผนงาน 7 โครงการ กลยุทธ์ที่ 5 การสื่อสาร (Communication) ประกอบด้วย 3 แผนงาน 14 โครงการ
โดยมีโครงการเร่งด่วนที่ต้องเร่งดำเนินการเพื่อการอนุรักษ์และบริหารจัดการสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนม พ.ศ. 2564 – 2565 จำนวน 8 โครงการ ได้แก่
1. โครงการการใช้เทคโนโลยีสำรวจติดตามและประเมินจำนวนสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนมกลุ่มประชากรใกล้ฝั่งและไกลฝั่ง
2. โครงการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อการปรับเปลี่ยนเครื่องมือประมงและวิธีการทำการประมงเพื่อป้องกันการติดโดยบังเอิญของสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนม
3. โครงการการประเมินผลกระทบด้านสังคม เศรษฐกิจ การแก้ไขปัญหา การบรรเทาผลกระทบและการเยียวยาชาวประมง ผู้ประกอบการ และผู้มีส่วนได้เสียตลอดห่วงโซ่
4. โครงการ การแก้ไขปัญหาเครื่องมือประมงที่มีผลกระทบต่อพะยูน
5. โครงการการพัฒนาระบบการออกใบอนุญาตทำการประมง (e-License) เพื่อรองรับมาตรการเพื่อการอนุรักษ์และบริหารจัดการสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนม
6. โครงการการเพิ่มประสิทธิภาพระบบตรวจสอบย้อนกลับสินค้าสัตว์น้ำเพื่อรองรับ Marine Mammal Protection Act ของประเทศสหรัฐอเมริกา
7. โครงการการควบคุมเฝ้าระวังพื้นที่ทำการประมงในบริเวณพื้นที่เสี่ยงต่อสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนม
8. โครงการการเพิ่มประสิทธิภาพในการดูแลสัตว์ทะเลหายากผ่านระบบการลาดตระเวนเชิงคุณภาพทางทะเล (Smart Marine Patrol) มีวงเงินงบประมาณรวม 225.9 ล้านบาท โดยมอบให้อนุกรรมการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย อ. 1 พิจารณารายละเอียดโครงการและงบประมาณต่อไป
ทั้งนี้ กรมประมง ได้จัดส่งข้อมูลการปฏิบัติการระดับชาติเพื่อการอนุรักษ์และบริหารจัดการสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยให้สหรัฐฯ ในกรอบเวลาที่กำหนดเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยทางสหรัฐฯ จะใช้เวลาประมาณ 1 ปี ในการประกาศผลการพิจารณา ก่อนบังคับใช้ในวันที่ 1 ม.ค. 2566
อย่างไรก็ตาม แผนปฏิบัติการระดับชาติเพื่อการอนุรักษ์และบริหารจัดการสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนมของไทยเพิ่งเริ่มต้นเท่านั้น โดยภายใต้การบริหารจัดการของรัฐที่มีประสิทธิภาพ จึงจะส่งเสริมการการอนุรักษ์สัตว์ทะเลควบคู่กับการทำประมงอย่างยั่งยืน สร้างประโยชน์ทั้งมิติในด้านสิ่งแวดล้อมและด้านเศษฐกิจ