10 สิงหาคม 2564 ตำรวจ-เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าเวียดนามบุกยึดสัตว์ป่าของกลาง

ที่มา: https://mgronline.com/greeninnovation/detail/9640000078241

เจ้าหน้าที่ตำรวจร่วมกับกรมพิทักษ์ป่าเวียดนามเข้าตรวจยึดลูกเสือโคร่งทั้งหมด 24 ตัว มาจากฟาร์มเพาะพันธุ์เสือโคร่งผิดกฎหมายจำนวน 2 แห่งใน จ.เหงะอัน (Nghe An) เพาะพันธุ์เสือโคร่งผิดกฎหมายตั้งอยู่ทางตอนเหนือของประเทศเวียดนาม เจ้าหน้าที่ตรวจยึดครั้งแรกเมื่อวันที่ 1 ส.ค.ที่ผ่านมา เป็นลูกเสือโคร่ง 7 ตัว และต่อมาเมื่อวันที่ 4 ส.ค. ได้เสือโคร่งอีก 17 ตัว (เป็นเสือโคร่งอินโดจีน 14 ตัวจากบ้านหลังหนึ่ง และเสือโคร่งอินโดจีนอีก 3 ตัวจากที่อื่น) การเข้าจับกุมครั้งนี้ WWF ออกแถลงการณ์แสดงความชื่นชมต่อทีมเจ้าหน้าที่จากประเทศเวียดนาม โดยนายเบนจามิน รอว์สัน (Benjamin Rawson) ผู้อำนวยการฝ่ายอนุรักษ์และการพัฒนา จาก WWF เวียดนาม กล่าว “WWF ขอแสดงความยินดีและชื่นชมเจ้าหน้าที่ใน จ.เหงะอานสำหรับการเข้าจับกุมในครั้งนี้ ทำให้เราได้เห็นถึงความุ่งมั่นอย่างแรกกล้าที่จะต่อกรกับอาชญากร และการลักลอบค้าเสือโคร่ง เราขอชื่นชนและสนับสนุนให้ผู้ที่กระทำผิดในครั้งนี้ได้รับการดำเนินการตามกฎหมายและได้รับโทษสูงสุด ซึ่งอาจโดนจำคุกนานถึง 15 ปี”  ในปัจจุบันคาดว่า มีเสือโคร่งกว่า 8,000 ตัวถูกกักขังในฟาร์มเพาะพันธุ์มากกว่า 300 แห่งทั่วทวีปเอเชีย โดยเสือโคร่งประมาณ 300 ตัวถูกกักขังอยู่ในประเทศเวียดนาม

 

การเข้าจับกุมครั้งนี้ตอกย้ำถึงจุดยืนของ WWF ที่เชื่อว่า ฟาร์มเพาะพันธุ์เสือโคร่งเป็นเพียงสถานที่บ่อนทำลายความพยายามของงานอนุรักษ์ อีกทั้งยังเป็นอุปสรรคต่อภารกิจปกป้องและฟื้นฟูประชากรเสือโคร่งอีกด้วย เนื่องจากธุรกิจเพาะพันธุ์เสือโคร่งช่วยส่งเสริมความต้องการชิ้นส่วนและผลิตภัณฑ์จากเสือโคร่งอย่างไม่มีที่สิ้นสุด WWF ขอสนับสนุนการยุติการเลี้ยงเสือโคร่งในสถานที่เพาะเลี้ยงโดยทันที ตามข้อกฎหมายและระเบียบของอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกลสูญพันธุ์ (CITES) และส่งเสริมให้มีการตรวจสอบธุรกิจฟาร์มเสือโคร่งที่กระจายอยู่ทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และประเทศจีนอย่างเร่งด่วน เนื่องจากอุตสาหกรรมดังกล่าวไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อการอนุรักษ์อย่างที่กล่าวอ้าง WWF ได้แนะนำให้ออกนโยบายการจัดการเสือโคร่งในกรงเลี้ยง พร้อมจัดตั้งระบบติดตาม เช่น การฝังชิป การถ่ายภาพลายพรางทั้งสองข้างลำตัวของเสือโคร่ง และการจัดเก็บข้อมูลสารพันธุกรรม หรือดีเอ็นเอ เพื่อเก็บไว้เป็นฐานข้อมูล และทำให้แน่ใจว่า จะไม่มีเสือโคร่งตัวใดหลุดไปอยู่ในมือของผู้ไม่หวังดีอีก ระหว่างทำการเคลื่อนย้ายสัตว์นักล่าเหล่านี้ไปยังศูนย์พักฟื้น

 

WWF ทำงานร่วมกับเครือข่ายทั่วโลกในการป้องปรามและหยุดยั้งธุรกิจค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมาย รวมทั้งปกป้องเสือโคร่งในป่าที่เหลืออยู่ทั่วโลกเพียง 3,900 ตัว พร้อมขับเคลื่อนงานประชาสัมพันธ์และสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์ในสังคมเมือง เพื่อลดความต้องการบริโภคชิ้นส่วนของเสือโคร่งในท้องตลาดที่ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่องมาเป็นระยะเวลานาน

 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้เพื่อปรับปรุงประสบการณ์ของคุณ เราจะถือว่าคุณรับได้กับเรื่องนี้ แต่คุณสามารถเลือกไม่รับได้หากต้องการ ยอมรับ อ่านเพิ่มเติม

Privacy & Cookies Policy