10 มีนาคม 2563 โลกลดปล่อยคาร์บอน มุ่งพลังงานหมุนเวียน
ที่มา: https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/869927?utm_source=category&utm_medium=internal_referral&utm_campaign=foreign
รายงานล่าสุดจากเอมเบอร์ กลุ่มคลังสมองอิสระศึกษาเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระบุว่า การผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินทั่วโลกลดลงร้อยละ 3 ในปี 2562 มากที่สุดนับตั้งแต่ทศวรรษ 90 เป็นอย่างน้อย ยุโรปลดการใช้ถ่านหินผลิตไฟฟ้าลงร้อยละ 24 เนื่องจากเปลี่ยนไปใช้พลังงานหมุนเวียน ส่วนที่สหรัฐลดลงร้อยละ 16 เพราะโรงไฟฟ้าพลังงานก๊าซแข่งขันได้มากกว่า อย่างไรก็ตาม ประเทศจีนสวนกระแสผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินมากขึ้นจนครองสัดส่วนครึ่งหนึ่งของโลกเป็นครั้งแรก
สหภาพยุโรป (อียู) ก้าวหน้าที่สุดในการนำพลังงานลม และแสงอาทิตย์มาใช้แทนถ่านหิน ส่วนประเทศสหรัฐอเมริกาหันไปพึ่งพาก๊าซมากขึ้น หลังจากผลิตน้ำมันจากหินน้ำมันได้มากในช่วงไม่กี่ปีหลัง ในประเทศจีนและประเทศอินเดียมีการใช้พลังงานหมุนเวียนมาผลิตไฟฟ้าร้อยละ 8 และ 9 ตามลำดับ ในภาพรวม ปี 2562 โลกใช้ถ่านหินลดลงแล้วเปลี่ยนไปใช้พลังงานหมุนเวียนแทน ได้แรงสนับสนุนจากหลายปัจจัย เช่น ก๊าซราคาถูกลง ประเทศญี่ปุ่นและประเทศเกาหลีใต้กลับมาเดินเครื่องโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อีกครั้ง และความต้องการใช้ไฟฟ้าชะลอตัวลง ซึ่งการจะควบคุมอุณหภูมิโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียสนั้นการใช้ไฟฟ้าพลังถ่านหินจะต้องลดลงร้อยละ 11 ต่อปี
นายเดฟ โจนส์ หัวหน้าคณะนักวิจัย และนักวิเคราะห์ไฟฟ้าของเอมเบอร์กล่าวว่า การที่โลกใช้ถ่านหินน้อยลง และภาคพลังงานปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลดลงถือเป็นข่าวดีสำหรับสภาพภูมิอากาศโลก แต่รัฐบาลก็ต้องเร่งการเปลี่ยนผ่านการผลิตไฟฟ้าอย่างขนานใหญ่ ไม่ให้มีการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินเลยทั้งโลกตลอดทศวรรษ 2020 “การเปลี่ยนจากถ่านหินไปใช้ก๊าซ ก็แค่เปลี่ยนจากพลังงานฟอสซิลตัวหนึ่งไปเป็นอีกตัวหนึ่งเท่านั้น”
นักวิจัยระบุ รายงานฉบับนี้ที่ใช้ข้อมูลครอบคลุมการผลิตไฟฟ้าร้อยละ 85 ของโลก อีกร้อยละ 15 ใช้ข้อมูลประมาณการยังชี้ด้วยว่า ปีที่ผ่านมาการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมและแสงอาทิตย์ เพิ่มขึ้น 270 เทราวัตต์ชั่วโมง หรือร้อยละ 15 โลกจำเป็นต้องรักษาอัตราการเติบโตในระดับนี้เอาไว้ให้ได้ทุกปี เพื่อบรรลุเป้าอุณหภูมิโลกตามที่กำหนดไว้ในข้อตกลงปารีสว่าด้วยโลกร้อน เดือนที่แล้วสำนักงานพลังงานระหว่างประเทศ (ไออีเอ) เผยว่า ปี 2562 การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการผลิตไฟฟ้าทั่วโลกไม่เพิ่มขึ้น เนื่องจากมีการใช้พลังงานหมุนเวียนมากขึ้น รวมถึงการเปลี่ยนจากใช้ถ่านหินไปเป็นก๊าซธรรมชาติ ส่งผลให้เขตเศรษฐกิจก้าวหน้าลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนลง