สผ. ร่วมศึกษาดูงานและหารือแลกเปลี่ยนนโยบายและแนวทางการดำเนินงานด้านความหลากหลายทางชีวภาพและความยั่งยืน ณ ประเทศญี่ปุ่น
เมื่อวันที่ 9-10 ธันวาคม 2567 ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม นายจิรวัฒน์ ระติสุนทร รองเลขาธิการ สผ. และนางสุศมา ปิตากุลดิลก ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานความยั่งยืนและบริหารผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) (ปตท.สผ.) พร้อมคณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ เข้าร่วมศึกษาดูงานด้านความหลากหลายทางชีวภาพและความยั่งยืน ณ ประเทศญี่ปุ่น
วันที่ 9 ธันวาคม 2567 คณะศึกษาดูงานร่วมประชุมหารือกับผู้แทนกระทรวงสิ่งแวดล้อม ประเทศญี่ปุ่น เพื่อแลกเปลี่ยนนโยบาย แบ่งปันประสบการณ์แนวทางการดำเนินงานเกี่ยวกับเป้าหมาย 30X30 พื้นที่อนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพนอกพื้นที่คุ้มครอง (OECM) การอนุรักษ์ ฟื้นฟูพื้นที่เครือข่ายนกน้ำอพยพ ความริเริ่มซาโตยามา การประยุกต์ใช้แนวคิด Nature-based Solutions (NbS) เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและงานด้านสิ่งแวดล้อมศึกษา ประเทศไทยได้แสดงความพร้อมเพื่อมุ่งสู่การบรรลุเป้าหมาย 30X30 ของกรอบงานความหลากหลายทางชีวภาพของโลก ด้วยการกำหนดเป้าหมายของประเทศและยกระดับการทำงานร่วมกับเครือข่ายภาครัฐ ประชาชนและเอกชนในพื้นที่นำร่อง ตลอดจนแสวงหาแนวทางการสร้างแรงจูงใจ การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคธุรกิจ การติดตามประเมินผลในระยะยาวต่อไป
วันที่ 10 ธันวาคม 2567 ศึกษาดูงาน ณ Toyota Technical Center Shimoyama หนึ่งในศูนย์วิจัยและพัฒนายานยนต์ของโตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น ซึ่งมุ่งเน้นดำเนินธุรกิจควบคู่กับการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ ตามแนวคิด Nature Positive พื้นที่ร้อยละ 60 ของศูนย์ฯ ประกอบด้วยป่าไม้ดั้งเดิม และพื้นที่สีเขียวที่พัฒนาขึ้นใหม่ มีการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการศึกษาวิเคราะห์เพื่อการอนุรักษ์ เช่น การสำรวจวิเคราะห์ข้อมูลพื้นที่ป่าไม้ด้วยระบบ LiDAR การวิเคราะห์และจำแนกชนิดนกด้วยระบบ Audio Data Analysis และส่งเสริมการจัดการระบบนิเวศและการทำเกษตรตามแนวคิดความริเริ่มซาโตยามา โดยกระทรวงสิ่งแวดล้อม ประเทศญี่ปุ่นได้รับรองศูนย์ฯ แห่งนี้ เป็น 1 ใน 5 พื้นที่ OECMs ของโตโยต้าในประเทศญี่ปุ่น เมื่อปี พ.ศ. 2566
จากนั้น ได้เยี่ยมชมศูนย์การเรียนรู้ด้านสิ่งแวดล้อมหมู่บ้านหิ่งห้อยโทคกะวะ (Tokkawa Firefly Village) ซึ่งได้รับการรับรองเป็นพื้นที่ OECMs และขึ้นทะเบียน Nationally Certified Sustainably Managed Natural Sites ซึ่งเกิดจากความร่วมมือระหว่างหน่วยงานท้องถิ่น เอกชน และชุมชน ในการดูแลรักษาระบบนิเวศ แหล่งต้นน้ำ และความหลากหลายทางชีวภาพ โดยเฉพาะหิ่งห้อย ซึ่งเป็นดัชนีบ่งชี้คุณภาพสิ่งแวดล้อมที่สำคัญ มีการส่งเสริมกิจกรรมการเรียนรู้ อนุรักษ์และฟื้นฟู การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ การทำการเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ชุมชนสามารถอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างยั่งยืน
การศึกษาดูงานในครั้งนี้ ช่วยเสริมองค์ความรู้และนำแนวคิดหลักการที่เป็นประโยชน์มาปรับใช้ในจัดทำกรอบนโยบายและแนวทางการดำเนินงานเพื่อการอนุรักษ์ และใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืนที่สอดคล้องกับบริบทของไทยและสากล
จัดทำและเผยแพร่โดย กลุ่มงานอำนวยการและประชาสัมพันธ์
สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.)