โอบรับแนวคิด Minimalism เพื่อโลก เพื่อเรา
ในโลกที่เต็มไปด้วยลัทธิบริโภคนิยมและการใช้ทรัพยากรที่เกินความจำเป็น ปรัชญาความเรียบง่าย (Minimalism) หรือบางท่านอาจเคยได้ยินว่า “น้อยแต่มาก” จึงกลายเป็นสัญญาณแห่งความหวังที่นำไปสู่
การอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างปรองดอง อันเป็นหนึ่งในเส้นทางสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ปรัชญาการใช้ชีวิตแบบ Minimalism สนับสนุนการใช้ชีวิตอย่างตั้งใจ มีเหตุผล เน้นความเรียบง่ายและมีสติ หัวใจหลัก คือ กระตุ้นให้คนพิจารณาไตร่ตรองถึงรูปแบบการบริโภคของตน ลดสิ่งของที่ไม่จำเป็น “อะไรไม่จำเป็นก็ทิ้งไป” (ชื่อหนังสือของ Fumio Sasaki ซึ่งผู้เขียนมีความสุขจากการมีข้าวของน้อยชิ้น ผลักดันชีวิตของเขาให้ดีขึ้น มีความสุขมากขึ้น มีเวลามากขึ้น สนุกกับชีวิต รู้สึกกระปรี้กระเปร่า มีสมาธิ ประหยัด เป็นมิตรกับธรรมชาติ แค่ทิ้งข้าวของที่ไม่จำเป็นไปซะ) ซึ่งจะเป็นการลดรอยเท้าทางนิเวศน์ (Ecological Footprint) ของตน ในบทความนี้ เราจะสำรวจว่าการเปิดรับความเรียบง่ายสามารถนำไปสู่ความสัมพันธ์ที่ยั่งยืนกับสิ่งแวดล้อม (เพื่อโลก) และความสงบสุขในใจ (เพื่อเรา) ได้อย่างไร
ในวัฒนธรรมที่ขับเคลื่อนโดยการสะสมทรัพย์สมบัติหรือลัทธิบริโภคนิยมแบบสุดโต่ง มีความคิดที่ว่าความสุขและความสมหวัง จะได้มาเมื่อเรามีสิ่งของต่างๆ มากขึ้น เหมือนกับที่พวกเราเคยติดกับดักกับคำว่า “ของมันต้องมี” ทั้ง ๆ ที่บางทีก็มีสิ่งของนั้นๆ อยู่มากมายแล้ว หรือบางทีก็ยังไม่รู้ว่าจะเอามาทำอะไรด้วยซ้ำ แต่แนวคิด Minimalism กำลังท้าทายแนวคิดบริโภคนิยมแบบสุดโต่ง ซึ่งหนึ่งในหลักการพื้นฐานของ Minimalism คือ การปฏิเสธความต้องการทางวัตถุที่ไม่สิ้นสุด แต่กลับกระตุ้นให้บุคคลได้รับความพึงพอใจจากประสบการณ์ ความสัมพันธ์ และการเติบโตภายในทางจิตวิญญาณส่วนบุคคล เหนือความต้องการทางวัตถุ ทำให้ชาวมินิมอลลิสต์ลดการบริโภคทรัพยากรธรรมชาติลง โดยจะพิจารณาความจำเป็นและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของการซื้อแต่ละครั้งอย่างรอบคอบ พวกเขาเลือกใช้สินค้าคุณภาพสูงและทนทาน
ที่ตอบสนองความต้องการได้อย่างมีประสิทธิภาพ (ถึงแม้จะแพงกว่า) ซึ่งช่วยลดของเสียและลดกระบวนการผลิตที่ใช้ทรัพยากรมาก นอกจากนี้ ชาวมินิมอลลิสต์มักยอมรับแนวทางปฏิบัติเพื่อสิ่งแวดล้อม เช่น การรีไซเคิล และการซ่อมแซมสิ่งของต่างๆ เพื่อยืดอายุการใช้งาน ลดการใช้พลังงาน อนุรักษ์น้ำ และหันมาใช้การคมนาคมขนส่งสาธารณะซึ่งเอื้อต่อการใช้ชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้นและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย
นอกเหนือจากการครอบครองวัตถุแล้ว แนวคิด Minimalism ยังขยายไปสู่แง่มุมอื่นๆ ของชีวิต รวมถึงการจัดการพื้นที่อยู่อาศัยและนิสัยประจำวัน เริ่มจากพื้นที่เล็ก ๆ ที่ละส่วน เช่น ตู้เสื้อผ้า ลิ้นชัก หรือห้องหนึ่งห้อง โดยแบ่งสิ่งของออกเป็น 3 ประเภท คือ เก็บไว้ บริจาค/ขาย และทิ้ง ซื่อสัตย์กับตัวเองว่าสิ่งใดที่เราต้องการและให้ความสำคัญจริง ๆ เมื่อสามารถปล่อยวางโดยการทิ้งสิ่งของที่ไม่จำเป็น เราจะรู้สึกถึงความเบาสบายและความเป็นอิสระที่เพิ่มขึ้น การปล่อยวางจากความยึดติดกับสิ่งของอาจเป็นเรื่องยาก เนื่องจากของบางอย่างมีคุณค่าทางจิตใจ ในกรณีนี้ ลองถ่ายภาพสิ่งของที่มีคุณค่าต่อจิตใจก่อนที่จะ
ลงมือทิ้ง เพื่อเก็บความทรงจำไว้โดยไม่ต้องเก็บสิ่งของจริงไว้ ขอให้ระลึกไว้ว่าความทรงจำนั้นอยู่ในตัวคุณ ไม่ได้อยู่ในสิ่งของ แม้ว่าสิ่งของจะไม่อยู่แล้วแต่ความทรงจำยังคงอยู่ การโอบรับแนวคิด Minimalism มาใช้ ไม่เพียงแต่สร้างความรู้สึกสงบภายในจิตใจ แต่ยังช่วยลดทรัพยากรที่จำเป็นสำหรับการบำรุงรักษาและการจัดเก็บอีกด้วย
ต่อไปนี้คือวิธีการง่ายๆ ที่อาจจะเป็นจุดเริ่มต้นของใครหลายๆ คน ในการนำแนวคิด Minimalism ไปปรับใช้
- การจัดบ้าน ทิ้งหรือบริจาคของที่ไม่จำเป็น
- เลือกซื้อสินค้าที่คุณภาพมากกว่าปริมาณ ลงทุนในสิ่งของที่คงทนหรือสินค้าที่ได้รับการรับรองด้านสิ่งแวดล้อม
- สนับสนุนผู้ผลิตที่คำนึงถึงจริยธรรมและสิ่งแวดล้อม (ethical and environmentally conscious)
- ให้ความสำคัญกับประสบการณ์มากกว่าสิ่งของ (ความพึงพอใจจากสิ่งของที่ได้มาใหม่หายไปรวดเร็วมาก ในขณะที่ความสุขจากประสบการณ์เติบโตขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเราระลึกถึงและแบ่งปันเรื่องราว)
- พิจารณาลดขนาดของที่อยู่อาศัยลง
- ลดการบริโภคทรัพยากรและพลังงาน
- ร่วมแชร์ประสบการณ์และเป็นแรงบันดาลใจให้กับผู้คนในการใช้ชีวิตแบบ Minimalism
โดยสรุป การดำเนินชีวิตแบบ Minimalism นำเสนอวิธีแก้ปัญหาที่น่าสนใจสำหรับความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อมที่โลกของเราเผชิญอยู่ ด้วยการเปิดรับความเรียบง่ายและการบริโภคอย่างมีสติ การมีไลฟ์สไตล์ที่ให้ความสำคัญกับคุณภาพมากกว่าปริมาณ ให้คุณค่ากับประสบการณ์เหนือสิ่งของเครื่องใช้ และใช้ชีวิตอย่างกลมกลืนกับธรรมชาติ แต่ละบุคคลสามารถลดรอยเท้าทางนิเวศน์ของตนเอง และมีส่วนสนับสนุนอนาคตที่ยั่งยืนมากขึ้น โดยมุ่งมั่นที่จะปกป้องและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติสำหรับคนรุ่นต่อๆ ไป พร้อมกับได้รับความสงบภายในใจ และการใช้ชีวิตอย่างมีเป้าหมาย
บทความโดย นายทศพล เพียรธนะกูลชัย นักวิชาการสิ่งแวดล้อมชำนาญการ กองติดตามประเมินผลสิ่งแวดล้อม (กตป.)
เอกสารอ้างอิง
- Minimalism and the Environment: How Living Less Can Help Save the Planet. https://medium.com/@sterling_thinks/minimalism-and-the-environment-5a9864bc3f5c
- Finding Serenity in Simplicity: Embracing Minimalism for Peace of Mind. https://fcfreepresspa.com/finding-serenity-in-simplicity-embracing-minimalism-for-peace-of-mind/