“แหลมสนอ่อน” ป่าสนแห่งสุดท้ายของคนสงขลา

ช่วยด้วย ช่วยด้วย ช่วยพวกเราด้วย เสียงกระซิบที่ดังแทรกผ่านมากับสายลมจากป่าสนแห่งสุดท้ายของสงขลา ณ “แหลมสนอ่อน”

“แหลมสนอ่อน” เป็นแหล่งธรรมชาติประเภทชายหาด อยู่ปลายสุดของแหลมสมิหลา มีลักษณะเป็นที่ราบ มีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางประมาณ 1 เมตร พื้นที่เกิดจากการทับถมของตะกอนทราย ประกอบด้วย สันทราย ชายหาด และหาดทราย มีกลุ่มสังคมพืชประเภทสนทะเลขึ้นปกคลุมจำนวนมาก ด้านตะวันตกของแหลมติดกับร่องน้ำทะเลสาบสงขลา ซึ่งเป็นจุดเชื่อมทะเลสาบสงขลาเข้ากับทะเลหลวง มีการสร้างเขื่อนคอนกรีตและเขื่อนหินทิ้งเพื่อป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งจากอิทธิพลของคลื่นทะเลและคลื่นเรือประมงด้านปลายแหลม โดยเป็นเขื่อนกันทรายที่กรมเจ้าท่าสร้างไว้ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2529 ติดกับเขื่อนเป็นที่ตั้งของอนุสาวรีย์กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ และด้านตะวันออกของแหลมเป็นหาดทรายที่เกิดจากการสะสมตัวของตะกอน อันเนื่องมาจากอิทธิพลของการก่อสร้างเขื่อนป้องกันทรายทับถมปากทะเลสาบสงขลา ลักษณะเช่นนี้ได้ก่อให้เกิดสังคมพืชเกิดใหม่ต่อเนื่องจากแนวสวนสนเดิม มีความสำคัญต่อการควบคุมการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศทะเลสาบสงขลา เป็นระบบนิเวศที่น่าสนใจ หายาก และมีทัศนียภาพที่สวยงาม นอกจากนี้ ยังมีส่วนช่วยในการป้องกันความรุนแรงจากคลื่นและพายุที่พัดเข้าสู่ชายฝั่งอีกด้วย

เปรียบเทียบแหลมสนอ่อนในปี 2547 กับปี 2548

ด้วยความสำคัญของพื้นที่ “แหลมสนอ่อน” ตั้งแต่ในอดีตที่เคยเป็นแหล่งผลิตไม้หมอนรางรถไฟ และปัญหาสิ่งแวดล้อมที่พบ ทั้งในเรื่องของปัญหามลพิษทางน้ำ ปัญหาการใช้ประโยชน์ที่ดินที่ไม่เหมาะสม รวมทั้งการลักลอบตัดต้นสน ทำให้ในปี พ.ศ. 2537 สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรือ สผ. โดยกองจัดการสิ่งแวดล้อมธรรมชาติและศิลปกรรม หรือ กธศ. ได้จัดทำแผนการจัดการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมธรรมชาติบริเวณหาดสมิหลา หาดเก้าเส้ง และเกาะหนู เกาะแมว จังหวัดสงขลา โดยแผนฯ ดังกล่าว ครอบคลุมพื้นที่บริเวณ “แหลมสนอ่อน” ด้วย และ สผ. ได้นำส่ง แผนฯ ดังกล่าว ให้จังหวัดสงขลาเพื่อเป็นแนวทางบรรจุไว้ในแผนระดับจังหวัดต่อไป

“แหลมสนอ่อน” เปรียบเสมือนพื้นที่ต้องคำสาป เป็นพื้นที่งอกใหม่ที่เป็นผลพลอยได้จากการสร้างเขื่อนกันทราย แต่พื้นที่ก็ได้รับผลกระทบหนักเช่นกัน ด้วยเป็นพื้นที่ที่อยู่ในบริเวณที่ได้รับอิทธิพลจากการพัฒนาสูงเพราะตั้งอยู่ในเขตเมือง มีศักยภาพและโอกาสที่จะถูกพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว สวนสาธารณะ เป็นพื้นที่ที่ได้รับอิทธิพลจากการพัฒนาระบบอุตสาหกรรมและการขนส่งสินค้าด้วยระบบท่าเรือน้ำลึกของทะเลสาบสงขลา เป็นพื้นที่ที่ได้รับอิทธิพลจากการใช้ที่ดินของหน่วยงานราชการสูง เนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราชพัสดุ และอยู่ในการขอใช้ของหน่วยราชการต่าง ๆ นอกจากนี้ยังพบปัญหาการทำลายและดัดแปลงสิ่งแวดล้อม เช่น การตัดต้นสนจำนวนมากเพื่อการก่อสร้างถนน การใช้พื้นที่สำหรับการค้าขาย ตลอดจนการบุกรุกของสิ่งก่อสร้างที่ไม่กลมกลืนกับสภาพธรรมชาติโดยรอบ อันเป็นการทำลายภูมิทัศน์และดัดแปลงธรรมชาติให้ได้รับความเสียหายอย่างใหญ่หลวง

ตามแผนฯ ดังกล่าว สผ. มีแนวทางในการสงวนและการฟื้นฟูธรรมชาติบริเวณ “แหลมสนอ่อน” โดยวางมาตรการห้ามการตัดต้นสนและพืชพรรณไม้ที่ขึ้นตามชายหาดโดยไม่จำเป็น สงวนพื้นที่ชายหาดโดยห้ามก่อสร้างและมีกิจกรรมที่จะเป็นผลกระทบต่อแหล่งที่เป็นแหล่งเจริญเติบโตของลูกไม้ และปลูกพืชชายหาดเพิ่มเติม เพื่อการอนุรักษ์และสร้างความสมบูรณ์ให้กับพืชพรรณไม้ชายหาด และเพื่อเป็นตอกย้ำถึงความสำคัญของ “แหลมสนอ่อน” สผ. ได้นำเรื่องการขอใช้พื้นที่บริเวณ “แหลมสนอ่อน” ของส่วนราชการ เข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมธรรมชาติและศิลปกรรม

การอนุรักษ์ที่เหมาะสมและยั่งยืนของ “แหลมสนอ่อน” คือ การปล่อยให้ต้นสนและไม้อื่น ๆ เติบโตตามธรรมชาติตามแนวหาดที่เกิดใหม่ ป้องกันการบุกรุกพื้นที่ชายหาดจากชาวประมงในพื้นที่ ช่วยกันเก็บขยะที่ถูกซัดมาเกยฝั่งหรือผู้มาใช้หาดทิ้งไว้ และหากมีหน่วยงานราชการใดขอใช้พื้นที่ก็ให้นำเรื่องเข้าสู่คณะกรรมการชุดที่เกี่ยวข้อง และต้องมีการเชิญภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมตั้งแต่แรก

บทความโดย นางสาวนิลุบล ผ่องศรี นักวิชาการสิ่งแวดล้อมชำนาญการ กองจัดการสิ่งแวดล้อมธรรมชาติและศิลปกรรม (กธศ.)
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ KM for Journey to be the writers SS2

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้เพื่อปรับปรุงประสบการณ์ของคุณ เราจะถือว่าคุณรับได้กับเรื่องนี้ แต่คุณสามารถเลือกไม่รับได้หากต้องการ ยอมรับ อ่านเพิ่มเติม

Privacy & Cookies Policy