“สาหร่าย≠สาหร่าย”
ทุกคนทราบหรือไม่ว่าสาหร่ายที่ทุกคนเรียกว่าสาหร่ายในแม่น้ำเพชรบุรีที่ไหลผ่านชุมชนบ้านถ้ำเสือนั้น ไม่ใช่สาหร่ายอย่างที่ทุกคนคิด
ถ้าไม่ใช่สาหร่าย แล้วมันคืออะไรล่ะ?
ที่ทุกคนเห็นในแม่น้ำเพชรบุรีนั้นเป็นพืชดอก เป็นพืชชั้นสูงสุดในอาณาจักรพืช แตกต่างจากสาหร่ายที่เป็นพืชชั้นรองลงมา พืชดอกที่ดำรงชีวิตอยู่ในน้ำมักมีรูปร่าง และลักษณะคล้ายกับสาหร่ายจึงทำให้หลายคนเข้าใจผิด
แล้วเราจะเรียกพืชเหล่านั้นว่าอะไร?
ความจริงแล้วพืชเหล่านั้นมีชื่อเรียกหลากหลาย แตกต่างกันตามชนิดพันธุ์ ที่เห็นชัดเจนและแพร่กระจายตามชายฝั่งแม่น้ำเพชรบุรีบริเวณบ้านถ้ำเสือ ได้แก่ ดีปลีน้ำ หางกระรอก พุงชะโด ซึ่งพืชน้ำเป็นผู้ผลิตขั้นต้น เป็น แหล่งอาหาร แหล่งผลิตออกซิเจนที่สำคัญ และยังเป็นแหล่งหลบภัยของสัตว์น้ำ แต่หากมีมากเกินไปในพื้นที่ที่ต้องการใช้ประโยชน์จะทำให้พืชน้ำเหล่านี้กลายเป็นวัชพืช สร้างความตื้นเขิน และทำให้น้ำเน่าได้
อะไรคือตัวแปรสำคัญที่ทำให้พืชน้ำกลายร่างเป็นวัชพืช?
พืชเป็นสิ่งมีชีวิตมหัศจรรย์ที่เกิดขึ้นได้เพียงมีธาตุอาหารที่เพียงพอ พืชน้ำก็เช่นกัน พืชน้ำได้รับสารอาหารจากผืนดินบนฝั่งที่ถูกฝนชะล้างลงมา หากช่วงไหนฝนตกมากสารอาหารก็จะมากตามไปด้วย ส่งผลให้สิ่งมีชีวิตในน้ำทุกชนิดได้รับสารอาหาร และบางครั้งอาจจะมากเกินความจำเป็นเช่นกัน นอกจากนี้ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดวัชพืช คือ ความสามารถในการขยายพันธุ์วัชพืชมักขยายพันธุ์ได้ง่าย เช่น ดีปลีน้ำที่ขยายพันธุ์ได้ทั้งแบบอาศัยเพศ และไม่อาศัยเพศ ขยายพันธุ์ได้ทั้งเมล็ด และลำต้น ออกดอกได้ตลอดปี นอกจากนี้ราก และลำต้นของดีปลีน้ำยังสามารถปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมได้ในทุกสภาพแวดล้อมด้วย
บทความโดย นางสาววริษฐา จงวิสุทธิ์ นักวิชาการสิ่งแวดล้อมปฏิบัติการ กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ KM for Journey to be the writers