วิกฤติการณ์สิ่งแวดล้อมปี 2023 (ตอนที่ 2)

จากการนำเสนอสถานการณ์สิ่งแวดล้อมที่สำคัญของโลกปี 2023 ในบทความที่ผ่านมา ผู้เขียนได้นำประเด็นสถานการณ์ดังกล่าวที่รวบรวมมาจากเวปไซต์ Earth.Org แต่ยังไม่ได้กล่าวถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น โดยสถานการณ์สิ่งแวดล้อมเหล่านั้น เป็นเรื่องที่มีสาเหตุหลักมาจากการผลิตและการบริโภคของมนุษย์ และส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น เรื่องการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลในภาคพลังงาน มลภาวะทางอากาศ พื้นที่ป่าถูกทำลาย ผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพ และปัญหาพลาสติกที่เพิ่มขึ้น ในบทความนี้ ยังคงนำเสนอสถานการณ์สิ่งแวดล้อมที่มีสาเหตุหลักมาจากการดำรงชีวิตของมนุษย์ทั้งทางตรงและทางอ้อม ได้แก่ ขยะอาหาร ความมั่นคงทางอาหารและน้ำ และการประมงเกินขนาด ความเป็นกรดของมหาสมุทร และระดับน้ำทะเลเพิ่มขึ้น

ขยะอาหาร
อาหารที่เรารับประทานทั่วโลก ประมาณ 1 ใน 3 หรือคิดเป็น 1.3 พันล้านตัน ถูกทิ้งให้เป็นขยะอาหาร แต่หากนำไปเป็นอาหาร จะสามารถเลี้ยงคนได้ถึง 3 พันล้านคน ขณะที่ขั้นตอนการผลิตอาหาร มีการสูญเสียอาหารเช่นกัน ตั้งแต่การเพาะเมล็ด หว่านปุ๋ย ฉีดสารเคมี รดน้ำ จนถึงการเก็บเกี่ยว การขนส่ง และการผลิตในโรงงานอุตสาหกรรม การบรรจุและจำหน่ายไปยังครัวเรือน เห็นได้ว่ามีการใช้ทรัพยากรในทุกขั้นตอน และพบว่ามีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกระบวนการผลิตอาหาร รวมถึงมีของเหลือทิ้งจากการบริโภค ซึ่งในประเทศกำลังพัฒนา ร้อยละ 40 ของขยะอาหาร เกิดขึ้นภายหลังการเก็บเกี่ยวและขั้นตอนการผลิตอาหาร ขณะที่ในประเทศที่พัฒนาแล้ว ร้อยละ 40 ของขยะอาหาร เกิดขึ้นในขั้นตอนการจำหน่ายและการบริโภค ปริมาณขยะอาหารที่เกิดขึ้นในขั้นตอนการจำหน่ายสินค้า มีสาเหตุมาจากการตกแต่งอาหารให้สวยงาม ทำให้ต้องทิ้งอาหารไปเป็นจำนวนมาก กรณีประเทศสหรัฐอเมริกา สินค้าประเภทอาหารมากกว่าครึ่งหนึ่งถูกนำไปทิ้ง เนื่องจากมีลักษณะไม่น่ารับประทานหรือไม่สวยงาม โดยเฉพาะผักและผลไม้ กรณีเช่นนี้ส่งผลต่อความมั่นคงทางอาหาร และเกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมอื่นตามมา

ขยะอาหาร
ที่มา: https://www.bltbangkok.com/news/20369/

ความมั่นคงด้านอาหารและน้ำ
อุณหภูมิของโลกเพิ่มขึ้น ทำให้ผลผลิตภาคการเกษตรลดลง จากข้อมูลการสูญเสียหน้าดินทั่วโลก พบว่ามีการสูญเสียหน้าดินปริมาณมากกว่า 68 พันล้านตันในทุกๆ ปี เร็วกว่าความสามารถตามธรรมชาติที่ทำให้เกิดหน้าดินขึ้นมาชดเชย นอกจากนั้น ปริมาณสารเคมี และปุ๋ยเคมีถูกน้ำพัดพาลงไปปนเปื้อนในแหล่งน้ำ และแม่น้ำสายต่าง ๆ พื้นดินที่มีการปนเปื้อนสารเคมี และไม่มีพืชหรือสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ มักจะถูกกระแสน้ำและกระแสลมพัดพาได้อย่างง่ายดาย เนื่องจากไม่มีรากฝอยของพืชจับยึดดินไว้ด้วยกัน ส่วนสาเหตุที่ทำให้เกิดการชะล้างหน้าดินได้ง่าย ได้แก่ การเตรียมหน้าดินเพื่อการเพาะปลูก ที่แม้จะช่วยเพิ่มผลผลิตการเกษตรมากขึ้นในช่วงสั้นๆ แต่ได้ส่งผลเสียต่อโครงสร้างทางกายภาพของดินในระยะยาว ทำให้ดินจับตัวแน่น แข็ง แห้ง และไม่มีอินทรียสาร ซึ่งองค์กรอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ประเมินว่า ประชากรโลกปัจจุบันมีประมาณ 9 พันล้านคน จะมีความต้องการอาหารเพิ่มขึ้น ประมาณร้อยละ 70 ภายในปี 2050 ความมั่นคงด้านน้ำ ปริมาณน้ำจืดบนโลกมีประมาณร้อยละ 3 เท่านั้น ซึ่ง 2 ใน 3 ของน้ำดังกล่าว เป็นแผ่นน้ำแข็งหรือน้ำที่ไม่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ ทำให้ประชากรประมาณ 1.1 พันล้านคนไม่สามารถเข้าถึงแหล่งน้ำจืดได้ และอีกประมาณ 2.7 พันล้านคน มีโอกาสขาดแคลนน้ำอย่างน้อยหนึ่งเดือนในทุกๆ ปี

การจับปลาเกินขนาด
ประชากรในโลกประมาณกว่า 3 พันล้านคนรับประทานปลาเพื่อเป็นแหล่งโปรตีน โดยมีคนประมาณร้อยละ 12 ประกอบอาชีพประมง ในจำนวนนี้ ร้อยละ 90 เป็นประมงขนาดเล็ก ที่ใช้เพียงเรือประมงลำเล็ก และใช้อวนเป็นเครื่องมือจับปลา คนในยุคปัจจุบันรับประทานอาหารคิดเป็นปริมาณสองเท่าของผู้คนสมัยเมื่อ 50 ปีที่แล้ว นับเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้มีการจับปลาเพื่อนำมาค้าขายเป็นอาหาร ส่งผลให้มีการจับปลาในทะเลจนเกินขนาด ทำให้ปริมาณปลาทะเลลดลงอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ การจับปลาในปริมาณที่เกินขนาด ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม อาทิ ปริมาณสาหร่ายในแหล่งน้ำเพิ่มขึ้น ระบบนิเวศของปลาถูกทำลาย และความเสียหายต่อความหลากหลายทางชีวภาพอยู่ในระดับรุนแรงมากขึ้น

ปริมาณปลาที่ถูกจับจากการทำประมงเกินขนาด
https://www.weforum.org/agenda/2020/11/overfishing-is-a-social-injustice-to-end-it-we-need-to-eliminate-harmful-fisheries-subsidies-world-fisheries-day/

ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น
อุณหภูมิของโลกที่ร้อนขึ้น ทำให้อุณหภูมิมหาสมุทรอาร์คติกบริเวณขั้วโลกเหนือสูงขึ้น เมื่อน้ำแข็งบริเวณขั้วโลกละลาย ทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ปัจจุบันระดับน้ำทะเลทั่วโลกสูงขึ้นโดยเฉลี่ย 3.2 มิลลิเมตรต่อปี และจะสูงขึ้นเรื่อยๆ จนถึง 0.7 เมตร ในช่วงปลายศตวรรษนี้ มีสาเหตุหลักมาจากแผ่นน้ำแข็งกรีนแลนด์ในมหาสมุทรอาร์คติกละลาย ฤดูร้อนปีที่ผ่านมา แผ่นน้ำแข็งจากกรีนแลนด์ได้ละลายลงไปถึง 6 หมื่นล้านตัน ทำให้ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้น 2.2 มิลลิเมตรภายในเวลาสั้นๆ หรือประมาณสองเดือน และจากข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียม พบว่าแผ่นน้ำแข็งกรีนแลนด์ละลายสูงสุดในปี 2019 ถ้าน้ำแข็งกรีนแลนด์ทั้งหมดละลาย ระดับน้ำทะเลจะสามารถเพิ่มสูงถึง 6 เมตร ขณะที่การละลายของน้ำแข็งบริเวณทวีปแอนตาร์คติกบริเวณขั้วโลกใต้ส่งผลให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น ปีละประมาณ 1 มิลลิเมตรระดับน้ำทะเลเพิ่มขึ้นได้ส่งผลต่อชุมชนชายฝั่ง ทำให้เกิดน้ำขึ้นสูงหรือท่วมบริเวณชายฝั่ง ขณะที่ปัจจุบันมีประชากรทั่วโลกอาศัยอยู่ใกล้แนวชายฝั่ง ประมาณ 340 – 480 ล้านคน บางส่วนต้องย้ายไปอาศัยในที่ปลอดภัย โดยพื้นที่ดังกล่าวจะคลาคล่ำไปด้วยผู้ที่ย้ายไปอยู่รวมกัน และเกิดการขาดแคลนทรัพยากรได้ ทั้งนี้ มหานครใกล้ชายฝั่งหลายแห่งที่เสี่ยงต่อการได้รับผลกระทบจากน้ำทะเลเพิ่มสูง ได้แก่ กรุงเทพฯ โฮจิมินท์ มะนิลา และดูไบ

ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้นจนส่งผลกระทบต่อชุมชนบริเวณชายฝั่ง
ที่มา: https://ourworld.unu.edu/en/sea-level-rise-is-inevitable-but-we-can-still-prevent-catastrophe-for-coastal-regions

ความเป็นกรดในมหาสมุทร
อุณหภูมิโลกที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้เกิดความเป็นกรดในมหาสมุทรเพิ่มขึ้น โดยทั่วไปมหาสมุทรจะดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์ในบรรยากาศได้ประมาณร้อยละ 30 ขณะที่กิจกรรมของมนุษย์โดยเฉพาะการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล ทำให้ความเข้มข้นของก๊าซคาร์บอนออกไซต์ในบรรยากาศสูงขึ้น ส่งผลให้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์ถูกดูดซับไว้ในมหาสมุทรมากขึ้น การเปลี่ยนแปลงค่าความเป็นกรด-ด่าง (pH) ของน้ำทะเล ทำให้เกิดความเป็นกรดในมหาสมุทร ส่งผลต่อระบบนิเวศและชนิดของสิ่งมีชีวิต ระบบห่วงโซ่อาหาร รวมถึงที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตเปลี่ยนแปลงไป กรณีที่มีค่าความเป็นกรดสูงขึ้น ทำให้ระบบนิเวศและชนิดของสิ่งมีชีวิตเปลี่ยนแปลงจนไม่สามารถกลับมาเหมือนเดิมได้อีก เช่น หอยนางรมมีเปลือกและส่วนที่แข็งถูกละลาย การเกิดปะการังฟอกขาว รวมไปถึงความเสียหายอื่นต่อปะการัง เช่น การอยู่ร่วมกันอย่างเกื้อกูลกันระหว่างปะการังและสาหร่าย เมื่อสภาพน้ำทะเลมีความเป็นกรดมากขึ้น สาหร่ายต้องออกมาจากเนื้อเยื่อของปะการัง เพื่อหาที่อยู่ใหม่ที่มีสภาพที่เหมาะสม ให้สามารถดำรงชีวิตต่อไปได้ และหากปะการังที่ไม่มีสาหร่ายเป็นระยะเวลานานอย่างต่อเนื่อง จะทำให้ปะการังตายได้

ปะการังฟอกขาวเนื่องจากทะเลเป็นกรด
ที่มา: https://blog.dhigroup.com/diving-deep-into-the-problem-of-ocean-acidification/

โดยสรุปแล้ว จากสถานการณ์สิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้น พบว่าสาเหตุหลักมีส่วนเกี่ยวข้องกับการใช้ชีวิตของมนุษย์ที่นำทรัพยากรมาใช้ในทุกๆ ขั้นตอน และไม่สามารถป้องกันและจัดการของเสียที่เกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ จึงส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม แต่ผลกระทบเหล่านี้ก็จะสะท้อนกลับมายังมนุษย์ในท้ายที่สุด การเข้าใจสถานการณ์สิ่งแวดล้อม สาเหตุของปัญหา และผลกระทบที่เกิดขึ้นตามมา ทำให้ทุกคนเกิดความตระหนักและเกิดการปรับปรุงการใช้ชีวิตให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากที่สุด เพื่อให้คุณภาพของสภาพแวดล้อมอยู่ในเกณฑ์ที่ดีและมีความน่าอยู่ตลอดไป

อ้างอิง
Deena Robinson (2023), 15 Biggest Environmental Problems of 2023, updated September 16, 2023 retrieved from https://earth.org/the-biggest-environmental-problems-of-our-lifetime/

บทความโดย นายฉัตรชัย อินต๊ะทา นักวิชาการสิ่งแวดล้อมชำนาญการพิเศษ กองติดตามประเมินผลสิ่งแวดล้อม

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้เพื่อปรับปรุงประสบการณ์ของคุณ เราจะถือว่าคุณรับได้กับเรื่องนี้ แต่คุณสามารถเลือกไม่รับได้หากต้องการ ยอมรับ อ่านเพิ่มเติม

Privacy & Cookies Policy