13 กุมภาพันธ์ “วันรักนกเงือก”
“นกเงือก” นกเงือกเป็นนกขนาดใหญ่ที่พบได้ในป่าฝนเขตร้อนบริเวณทวีปเอเชีย ในไทยมีนกเงือกจำนวน 13 ชนิด และทั้งโลกมี 54 ชนิด นกชนิดนี้มีความอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพที่อยู่อาศัยมาก ดังนั้นจึงใช้นกชนิดนี้เป็นตัวชี้วัดความสมบูรณ์ของป่า เนื่องจากเป็นนกขนาดใหญ่ จึงสามารถกลืนเมล็ดพืชที่มีขนาดใหญ่ได้ และการมีอาณาเขตหาอาหารที่กว้าง ทำให้นกเงือกสามารถกระจายเมล็ดพืชที่มีขนาดใหญ่ไปได้ไกล จึงเป็นนักกระจายพันธุ์ไม้ที่ขาดไปไม่ได้ในผืนป่า โดยนกเงือกยังกินสัตว์ขนาดเล็กเป็นอาหารด้วย เช่น สัตว์เลื้อยคลาน แมลง สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็ก หรือแม้แต่ลูกนกในรังที่ยังไม่โตเต็มที่ นกเงือกจะจับคู่กับเพศตรงข้ามและอยู่กับคู่ของมันไปตลอดชีวิต การเลี้ยงดูลูกนั้นยากลำบากมากเนื่องจากตัวผู้จะออกหาอาหารมาป้อนตัวเมียที่ขังตัวเองอยู่กับลูกๆในโพรงบนต้นไม้ หากตัวผู้ตาย ตัวเมียและลูกของมันจะตายไปด้วย ปัญหาของการลดจำนวนลงของนกชนิดนี้คือการลดลงพื้นที่ป่า ไม่ว่าจะมาจากการบุกรุกหรือสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง อีกสาเหตุที่สำคัญคือการถูกล่าโดยผู้ที่หวังส่วนของกะโหลกนกเงือกไปทำของขลังมีอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์สารพัดแล้วแต่ผู้ถือครองจะจินตนาการไปได้ ปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นมาอย่างยาวนานจนทำให้บางสายพันธุ์ย่อยของนกชนิดนี้ใกล้ที่จะสูญพันธุ์ออกไปจากธรรมชาติ ดังนั้น ในปี พ.ศ. 2547 มูลนิธิศึกษาวิจัยนกเงือก คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งดำเนินการศึกษาวิจัยนกเงือกมานานกว่า 20 ปี จึงได้กำหนดให้วันที่ 13 กุมภาพันธ์ ของทุกปี เป็น “วันรักนกเงือก” เพื่อให้สังคมและประชาชนได้ตระหนักรู้ รู้คิด และเล็งเห็นถึงความสำคัญของการอนุรักษ์นกเงือกที่ใกล้สูญพันธุ์อยู่ทุกขณะ
ขอขอบคุณความรู้จาก มูลนิธิศึกษาวิจัยนกเงือก และมูลนิธิสืบนาคะเสถียร
จัดทำและเผยแพร่โดยกลุ่มงานอำนวยการและประชาสัมพันธ์
สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.)