“มรดกแพลตฟอร์ม” บทบาทของเทคโนโลยีดิจิทัลในการอนุรักษ์ฟื้นฟูย่านชุมชนเก่า
“เทคโนโลยีดิจิทัล” ไม่เพียงแต่เป็นองค์ประกอบสำคัญในการเปลี่ยนแปลงโลกยุคใหม่เท่านั้น ทุกภาคส่วนได้นำเทคโนโลยีนี้เข้าไปประยุกต์ใช้ในการทำงานอย่างรอบด้าน แทบทุกอย่างรอบตัวเรา กำลังถูกปรับเปลี่ยนสู่การเป็นดิจิทัล โลกที่ขับเคลื่อนอยู่ในปัจจุบันและอนาคต มีข้อมูลดิจิทัลเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการทำงาน การบริหาร การตัดสินใจอย่างมีประสิทธิภาพ และการเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืน แม้แต่งานด้านการอนุรักษ์ฟื้นฟูย่านชุมชนเก่า ก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงยุคดิจิทัลได้
สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ดำเนินงานตามภารกิจเกี่ยวกับการอนุรักษ์ฟื้นฟูย่านชุมชนเก่ามาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี พ.ศ.2554 จนถึงปัจจุบัน ด้วยการผลักดันทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง จัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายการอนุรักษ์ ฟื้นฟูย่านชุมชนเก่า พร้อมทั้งดำเนินการตามข้อเสนอเชิงนโยบายฯ ดังกล่าว นำมาจัดทำนโยบายและยุทธศาสตร์การอนุรักษ์ฟื้นฟูย่านชุมชนเก่าแห่งชาติขึ้น โดยในปี พ.ศ.2563 ได้นำนโยบายและยุทธศาสตร์การอนุรักษ์ฟื้นฟูย่านชุมชนเก่ามาสู่การปฏิบัติแล้วในหลายชุมชน
ทั้งนี้ การดำเนินโครงการขับเคลื่อนการอนุรักษ์และฟื้นฟูย่านชุมชนเก่า ระยะ 1 ได้คัดเลือกจังหวัดจันทบุรี และจังหวัดตรัง เป็นจังหวัดนำร่องในการดำเนินงาน เพราะเป็นพื้นที่ที่มีความพร้อมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและเครือข่ายชุมชน และนับเป็นจุดเริ่มต้นในการผลักดันการให้ใช้เครื่องมือของจังหวัดเองเป็นครั้งแรกของประเทศ พร้อมทั้งประกาศย่านชุมชนเก่าเป็นมรดกจังหวัด ผ่านประกาศจังหวัด โดยมีคณะอนุกรรมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมธรรมชาติและศิลปกรรมประจำจังหวัด ซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวมถึงผู้ทรงคุณวุฒิในท้องถิ่นเป็นกลไกในการขับเคลื่อน สร้างการรับรู้ ในคุณค่า และความสำคัญของย่านชุมชนเก่าในพื้นที่ เพื่อเป็นต้นแบบแก่จังหวัดอื่น ๆ ในการขับเคลื่อนอนุรักษ์ฟื้นฟูย่านชุมชนเก่าของตัวเอง
จากจุดเริ่มต้นดังกล่าวนั้นเอง ได้มีการดำเนินงานขับเคลื่อนให้เห็นเป็นรูปธรรมในระดับท้องถิ่น ด้วยกระบวนการอนุรักษ์วิถีใหม่ โดยใช้อัตลักษณ์เศรษฐกิจชุมชนและเทคโนโลยีดิจิทัลเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อน โดยการพัฒนาเครื่องมือให้เกิดกลไกการอนุรักษ์ ผ่านการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มในการรวบรวมฐานข้อมูลจับคู่อุปสงค์-อุปทาน ของความต้องการและการสนับสนุนการอนุรักษ์ย่านชุมชนเก่ากับทุกภาคส่วน เพื่อสร้างแนวทางในการดำเนินการโครงการ ระหว่างผู้เสนอโครงการซึ่งเป็นชุมชนกับผู้สนใจร่วมดำเนินโครงการจากภาคส่วนอื่นๆ
เครื่องมือดิจิตอลแพลตฟอร์มดังกล่าวมีชื่อว่า “มรดกแพลตฟอร์ม” ซึ่งจะเข้ามาทำหน้าที่เป็นเครื่องมือรวบรวมความต้องการในการขับเคลื่อนการอนุรักษ์ฟื้นฟูชุมชนเก่า ในพื้นที่นำร่อง จังหวัดจันทบุรี และจังหวัดตรัง และเป็นเครื่องมือสร้างโอกาสในการอนุรักษ์ฟื้นฟูย่านชุมชนเก่า โอกาสในการสร้างเศรษฐกิจของชุมชน แนวทางใหม่ๆ จากทุกภาคส่วนในการริเริ่มโครงการ กิจกรรมอนุรักษ์ฟื้นฟูย่านชุมชนเก่าที่เหมาะสมและเป็นรูปธรรมในพื้นที่
นอกจากนี้มรดกแพลตฟอร์ม ยังเป็นระบบฐานข้อมูลซึ่งสามารถใช้ประโยชน์ในการแนะนำ สร้างกระบวนการศึกษาอัตลักษณ์หรือลักษณะเฉพาะของชุมชน ผ่านกระบวนการจัดทำข้อมูลที่ได้จากการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆ ของแต่ละชุมชนเอง
แนวคิดการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาจัดเก็บข้อมูลทางวัฒนธรรมและจัดทำให้เห็นระบบไม่ได้เป็นเรื่องใหม่ หลายประเทศทั่วโลกต่างนำเทคโนโลยีดิจิทัลมารวบรวมข้อมูลทางวัฒนธรรมเพื่อวางแนวทางในการนำไปต่อยอด ตอบโจทย์ความต้องการ ความสามารถในการจัดการและความพร้อมในการตอบสนองต่อความต้องการนั้นๆ รวมถึงนำข้อมูลที่ได้ไปพัฒนาเป็นนวัตกรรมอื่นๆ ในอนาคต เช่น เป็นแอปพลิเคชัน เว็บไซต์ และอีกมากมาย ต่อไป
ขณะเดียวกัน สผ. ยังได้จัดทำ ระบบฐานข้อมูลแหล่งศิลปกรรมอันควรอนุรักษ์ของประเทศ และพัฒนาระบบฐานข้อมูล แหล่งสิ่งแวดล้อมศิลปกรรมเพื่อเป็นคลังข้อมูล โดยระบบฐานข้อมูลนี้ สามารถแสดงผลข้อมูลที่เก็บไว้ในรูปแบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ แสดงพิกัดที่ตั้งของแหล่งศิลปกรรมประเภทต่างๆ รวมถึงข้อมูลสำคัญ เช่น พิกัดของพื้นที่ที่มีปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก พื้นที่เสี่ยงไฟป่า เพื่อนำข้อมูลดังกล่าว มาประกอบการคาดการณ์ผลกระทบต่อแหล่งศิลปกรรมจากการพัฒนาโครงการต่างๆ หรือประกอบแผนการอนุรักษ์ หรือจัดการพื้นที่ต่างๆ อย่างเหมาะสม
จัดทำและเผยแพร่โดย
กลุ่มงานอำนวยการและประชาสัมพันธ์ / สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม