“ปลาหมอคางดำ” ภัยร้ายทำลายระบบนิเวศ
ปลาหมอคางดำ (blackchin tilapia) ชื่อวิทยาศาสตร์ Sarotherodon melanotheron Ruppell เป็นปลาในวงศ์ Cichlidae วงศ์เดียวกับ ปลาหมอเทศ ปลาหมอสี และปลานิล ปลาชนิดนี้มีถิ่นกำเนิดในแอฟริกาตะวันตก แพร่กระจายอยู่ตลอดแนวชายฝั่งตะวันตกเฉียงเหนือของทวีป ตั้งแต่มอริเตเนียถึงแคเมอรูน อาศัยอยู่ได้ทั้งในน้ำจืด น้ำกร่อยและน้ำเค็ม โดยสามารถทนต่อความเค็มสูง ในแอฟริกาตะวันตกปลาชนิดนี้ถูกจำกัดอยู่เฉพาะในทะเลสาบน้ำกร่อยและปากแม่น้ำ ลักษณะปลาชนิดนี้จะมีลำไส้ยาวกว่าลำตัวถึง 4 เท่า และมีระบบการย่อยอาหารที่ดี ทำให้มีความต้องการอาหารอยู่ตลอดเวลา ปลาหมอคางดำสามารถโตจนมีความยาวของลำตัวได้สูงสุด 28 เซนติเมตร (11 นิ้ว) แต่ปกติจะยาวประมาณ 17.5 เซนติเมตร (6.9 นิ้ว) สามารถผสมพันธุ์และวางไข่ได้ตลอดทั้งปี ปลาเพศเมีย 1 ตัว มีไข่ประมาณ 50-300 ฟอง หรือมากกว่านั้น ใช้เวลาตั้งท้องเพียง 22 วัน ระยะเวลาจับคู่ผสมพันธุ์ จะเข้ามาในเขตน้ำตื้น ปลาเพศเมียทำหน้าที่ขุดหลุมสร้างรัง เพศผู้ทำหน้าที่กระตุ้นให้เพศเมียไข่และผสมกับเชื้อภายนอก เพศเมียสามารถวางไข่ได้อย่างรวดเร็ว และใช้เวลาฟักตัวในปากปลาเพศผู้ 4-6 วัน จากนั้นตัวอ่อนจะอยู่ในปากต่อไป ประมาณ 2-3 สัปดาห์ จึงทำให้มีอัตราการอยู่รอดสูงกว่าปกติ โดยส่วนใหญ่จะพบปลาหมอคางดำอยู่รวมตัวกันเป็นฝูง พบมากบริเวณป่าชายเลน เป็นปลานักล่าที่กินแพลงก์ตอน พืช สัตว์ และซากของสิ่งมีชีวิตเป็นอาหาร ซึ่งหากบริเวณพื้นที่ใดมีปลาชนิดนี้แพร่กระจายจำนวนมาก ก็จะส่งผลกระทบต่อแหล่งอาหารและวงจรชีวิตของสัตว์น้ำประจำถิ่นนั้น ๆ
เส้นทางของปลาหมอคางดำ สู่ประเทศไทย
ปลาหมอคางดำ ที่มีถิ่นกำเนิดจากทวีปแอฟริกา มีเส้นทางและเกิดการแพร่กระบาดในประเทศไทยได้อย่างไร จนกลายเป็นสัตว์ต่างถิ่นรุกราน หรือเรียกว่า “เอเลี่ยนสปีชีส์” ที่ทำลายระบบนิเวศอย่างรวดเร็ว เนื่องจากในปี พ.ศ. 2549 คณะกรรมการด้านความหลากหลายและความปลอดภัยทางชีวภาพของกรมประมง (IBC) มีมติอนุญาตให้บริษัทเอกชนนำเข้าปลาหมอคางดำ จากสาธารณรัฐกานา ทวีปแอฟริกา
เพื่อนำมาปรับปรุงสายพันธุ์ปลานิลแบบมีเงื่อนไข จำนวน 2,000 ตัว โดยนำมาเลี้ยงที่ศูนย์ทดลองที่ตำบลยี่สาร อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม ต่อมาปี พ.ศ. 2553 บริษัทเอกชนดังกล่าว ได้แจ้ง
กรมประมงให้ทราบด้วยวาจา โดยไม่ได้จัดทำรายงานอย่างเป็นทางการ ว่า ปลาหมอคางดำที่นำเข้ามาเลี้ยงที่ศูนย์ทดลองที่ตำบลยี่สาร อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม จำนวน 2,000 ตัว ทยอยตาย
เกือบทั้งหมด ภายใน 3 สัปดาห์ บริษัทจึงได้ทำลายและฝังกลบซากปลา โดยการโรยด้วยปูนขาว แต่มิได้เก็บซากปลาส่งให้กรมประมงตามเงื่อนไขการอนุญาตของคณะกรรมการ IBC จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2555 เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งและปลาในพื้นที่ตำบลยี่สาร อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม พบการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำเป็นครั้งแรก และปัจจุบันพบการแพร่ระบาดในพื้นที่ชายฝั่งรอบอ่าวไทย 17 จังหวัด ไปไกลสุดถึงอำเภอระโนด จังหวัดสงขลา และอ่าวคุ้งกระเบน อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี อีกทั้งยังพบในพื้นที่จังหวัดนครปฐมและราชบุรี ปัญหาที่ตามมาจากการแพร่ระบาดของปลาชนิดนี้ พบว่า
ได้ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำและสิ่งมีชีวิต รวมทั้งยังส่งผลกระทบต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงปลากระชัง บ่อเลี้ยงปู และบ่อเลี้ยงกุ้ง เนื่องจากปลาหมอคางดำไล่ล่ากินผลผลิตสัตว์น้ำ
ที่เลี้ยงไว้ ทำให้เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำประสบปัญหาภาวะขาดทุน
ปัจจุบันการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำยังคงส่งผลกระทบขยายเป็นวงกว้างต่อระบบนิเวศและสัตว์น้ำอื่นๆ รวมทั้งป่าชายเลนที่เคยเป็นแหล่งอาหาร แหล่งอนุบาลสัตว์น้ำ และแหล่งที่อยู่อาศัยที่เหมาะสมสำหรับการเจริญเติบโตและการขยายพันธุ์ของสัตว์น้ำหลายชนิด กลับมีแต่เอเลี่ยนสปีชีส์อย่างปลาหมอคางดำ ทำให้วิถีธรรมชาติของชาวบ้านเริ่มเปลี่ยนแปลงไป ชาวบ้านเริ่มไม่ออกหาสัตว์น้ำ เนื่องจาก
ปลาชนิดพันธุ์อื่น ๆ ในแหล่งน้ำหรือคลองธรรมชาติจำนวนลดลงและหาได้ยากขึ้น จะหาได้ก็มีแต่ปลาหมอคางดำ จึงคาดการณ์ว่าอีกไม่นานสิ่งมีชีวิตในแหล่งน้ำหรือคลองธรรมชาติจะถูกแทนที่โดยปลาหมอคางดำ สถานการณ์แบบนี้อาจเป็นสัญญาณหายนะของระบบนิเวศในอนาคต ที่ถูกทำลายจนธรรมชาติขาดความสมดุล ทำให้เป็นเรื่องยากที่จะฟื้นระบบนิเวศและธรรมชาติให้กลับคืนมาดังเดิม กรมประมง จึงเร่งดำเนินการจัดการและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น เพื่อบรรเทาปัญหาให้แก่ชาวประมงและเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์น้ำ โดยการควบคุมและกำจัดปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำทุกแห่งที่พบการระบาด และปล่อยปลาผู้ล่า เช่น
ปลากะพงขาว การนำปลาหมอคางดำที่กำจัดออกจากระบบนิเวศไปใช้ประโยชน์ และการสำรวจและเฝ้าระวังการแพร่กระจายปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำธรรมชาติตามพื้นที่กันชนต่าง ๆ รวมทั้งประชาสัมพันธ์
สร้างความตระหนักรู้ การมีส่วนร่วมในการกำจัดปลาหมอคางดำให้กับทุกภาคส่วน
บทความโดย นางสาวสายธาร อินทรประสิทธิ์ เจ้าหน้าที่ประสานงานโครงการ กองติดตามประเมินผลสิ่งแวดล้อม (กตป.)
เอกสารอ้างอิง
BBC. 2024. กำจัด ‘ปลาหมอคางดำ’ ให้สิ้นจากน่านน้ำไทย เป็นไปได้จริงหรือไม่. แหล่งที่มา: https://www.bbc.com/thai/articles/cxw2pk1gyl9o. [4 ธันวาคม 2567]
ThaiPBS. 2567. ปลาหมอคางดำระบาด กระทบปลาพื้นถิ่นหายากสะท้อนระบบนิเวศพัง. แหล่งที่มา: https://www.thaipbs.or.th/news/content/342441. [27 สิงหาคม 2567]
THAIPUBLICA. 2024. ปลาหมอคางดำ (blackchin tilapia) เส้นทางจากกานาสู่ไทย. แหล่งที่มา: https://thaipublica.org/2024/07/wicharn. [28 สิงหาคม 2567]
สาระวิทย์. 2567. ปลาหมอคางดำบทเรียนของปลาต่างถิ่นเพื่อธุรกิจการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ. แหล่งที่มา: https://www.nstda.or.th/sci2pub/. [26 สิงหาคม 2567]