ประชุมเสวนา เรื่อง การบริหารจัดการปัญหามลพิษทางอากาศเชิงรุกในอุตสาหกรรมปิโตรเลียม และปิโตรเคมี
สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) โดย กองวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (กวผ.) ร่วมกับคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดการประชุมเสวนาทางวิชาการ เรื่อง การบริหารจัดการปัญหามลพิษทางอากาศเชิงรุกในอุตสาหกรรมปิโตรเลียมและปิโตรเคมี ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (e-Meeting) เมื่อวันที่ ๗ กรกฎาคม ๒๕๖๔ ณ ห้องประชุม ๑๐๐๑ อาคารทิปโก้ ๒ โดยมี ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช รองเลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานกล่าวเปิดการประชุม และมีนางอินทิรา เอื้อมลฉัตร ผู้อำนวยการกองวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม เป็นผู้กล่าวรายงาน หลังจากนั้น เป็นการเสวนาวิชาการ เรื่องการบริหารจัดการปัญหามลพิษทางอากาศเชิงรุกในอุตสาหกรรมปิโตรเลียมและปิโตรเคมี ซึ่งได้รับเกียรติจากผู้เสวนา รองศาสตราจารย์ ดร.สราวุธ เทพานนท์ หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมสุขาภิบาล คณะสาธาณสุขศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล และผู้ทรงคุณวุฒิด้านคุณภาพอากาศ ในคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการอุตสาหกรรมกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม ปิโตรเคมี และแยกหรือแปรสภาพก๊าซธรรมชาติ นายภูพิงค์ ทวีทรัพย์ ผู้จัดการการจัดการสิ่งแวดล้อม บริษัทไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) และดร.เวฬุกา รัตนวราหะ ผู้จัดการส่วนสิ่งแวดล้อมและพลังงาน บริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด ดำเนินรายการโดย นางจตุพร รักสันติชาติ นักวิชาการสิ่งแวดล้อมชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานปิโตรเคมี
การจัดประชุมเสวนาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อรับฟังการดำเนินการบริหารจัดการปัญหามลพิษทางอากาศเชิงรุกของภาคส่วนกลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเลียม และกลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมี และข้อเสนอแนะต่อภาครัฐที่จะช่วยกันให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน ผ่านกลไกรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ต่อไป รวมทั้งให้ภาคส่วนและบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้านอุตสาหกรรมปิโตรเลียม และอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ตลอดจนผู้สนใจทั่วไป ได้รับการเสริมสร้างศักยภาพ องค์ความรู้และเพื่อให้เกิดเครือข่ายความร่วมมือที่ดีของภาครัฐและเอกชนในการร่วมกันแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศจากแหล่งกำเนิดเพื่อประชาชนและชุมชนในพื้นที่ต่อไป ซึ่งมีผู้เข้าร่วมการประชุมรวมระบบออนไลน์ทั้งสิ้นกว่า ๒๐๐ คน ประกอบด้วย นักวิชาการสิ่งแวดล้อมจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน (บริษัทที่ปรึกษาด้านสิ่งแวดล้อม) ผู้แทนอุตสาหกรรมปิโตรเลียม (ได้แก่ โรงงานกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม โรงงานแยกก๊าชธรรมชาติโรงงาน/กิจการ แปรสภาพก๊าชธรรมชาติ) ผู้แทนอุตสาหกรรมปิโตรเคมี สถาบันการศึกษา เจ้าหน้าที่ สผ.และผู้ที่เกี่ยวข้องในภาคส่วนต่าง ๆ โดยผลจากการประชุมทำให้ภาคส่วนได้รับทราบข้อมูลและข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนามาตรการด้านอากาศในรายงาน EIA และบุคลากร สผ. ได้เพิ่มพูนองค์ความรู้ทางวิชาการที่เป็นประโยชน์ในการปฏิบัติงาน ต่อไป
จัดทำและเผยแพร่โดย : กลุ่มงานอำนวยการและประชาสัมพันธ์ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม